การออกแบบ
คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการคิดเชิงออกแบบ
ค้นพบความหมายของการเป็นนักคิดเชิงออกแบบและวิธีดำเนินกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นตามความต้องการของมนุษย์โดยเฉพาะ
การคิดเชิงออกแบบให้ความสำคัญกับผู้ใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์
การคิดเชิงออกแบบเป็นการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง “การคิดเชิงออกแบบนั้นเป็นแนวทางการคิดและการสร้างสรรค์ที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง” นักออกแบบประสบการณ์ Meg Dryer อธิบาย “อีกทั้งเป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ที่คำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ใครๆ ก็สามารถเป็นนักคิดเชิงออกแบบได้ ไม่ใช่แค่เพียงนักออกแบบกราฟิกหรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งนี่คือวิธีการสร้างสรรค์งานออกแบบที่ยอดเยี่ยมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้และดิจิทัล เพื่อสร้างโซลูชันใหม่ในหลากหลายอาชีพ
“หากสรุปอย่างรวบรัดแล้ว กระบวนการคิดเชิงออกแบบก็คือการเข้าใจผู้คนและความต้องการของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง สรุปปัญหาที่คุณจะแก้ไข คิดค้นคอนเซปต์เพื่อการออกแบบ จากนั้นจึงสร้างต้นแบบและทดสอบซ้ำๆ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ใช้จริง” Dryer กล่าว
การออกแบบที่ยอดเยี่ยมมาจากการเอาใจใส่ผู้อื่น
แนวทางการคิดเชิงออกแบบเริ่มต้นด้วยการสำรวจโดยละเอียดว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่พวกเขาอาจต้องการคืออะไร โดยมีการศึกษาเฉพาะสาขาหนึ่งเรียกว่าปัจจัยมนุษย์ ซึ่งอุทิศให้กับการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบ เพื่อช่วยให้สามารถออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้ง่าย
นักศึกษาปัจจัยมนุษย์วิศวกรรม Sara Berndt อธิบายว่า “เราทำการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ใช้ต่างๆ เช่น 'สีอะไรบ้างที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ ข้อความแสดงข้อผิดพลาดหรือการแจ้งเตือนต่างๆ ควรอยู่ตรงไหนเพื่อให้ผู้คนสามารถมองเห็นได้ ควรแสดงการแจ้งเตือนกี่ครั้งก่อนที่คุณจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป และเราควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนใดบ้าง’”
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ 5 ขั้นตอน
ไม่ว่าคุณต้องการที่จะสร้างสรรค์สิ่งใด ขั้นตอนทั้ง 5 ของกระบวนการออกแบบที่ประสบความสำเร็จก็คือการเอาใจใส่ กำหนดปัญหา คิดหาไอเดีย สร้างต้นแบบ และทดสอบ ซึ่งรูปแบบการคิดเชิงออกแบบ 5 ขั้นตอนอันเป็นที่ยอมรับนี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทออกแบบระดับโลก IDEO และในปัจจุบัน สถาบันด้านการออกแบบ Hasso-Plattner Institute of Design แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้นำไปใช้ในหลักสูตรของ D.school ด้วย
1. เอาใจใส่: ศึกษาค่านิยมของผู้ใช้
ขั้นตอนแรกก่อนที่คุณจะเริ่มออกแบบคือการทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายและจัดทำรายการความต้องการและค่านิยมของพวกเขา “การมีรายการความต้องการของผู้ใช้ที่ชัดเจนนั้นสำคัญมาก ซึ่งคุณควรใช้เวลาอย่างรอบคอบในการสร้างรายการดังกล่าวนี้” Berndt กล่าว “เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณสามารถพึ่งพาสิ่งนี้ได้ไม่เพียงแต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารกับทีมของคุณด้วย หากมีคนแนะนำฟีเจอร์ใหม่ คุณสามารถดูความต้องการของผู้ใช้และบอกได้ว่า ‘ดูเหมือนว่าผู้ใช้ของเราจะไม่เห็นว่าสิ่งนี้สำคัญมากนัก’ โดยการทำความเข้าใจผู้ใช้นั้นถือเป็นรากฐานของทุกสิ่ง”
คุณอาจรู้สึกอยากพึ่งพาข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่การศึกษาประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้โดยละเอียดถือเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน “ข้อมูลสามารถบอกคุณว่าเกิดอะไรขึ้นได้” Dryer อธิบาย “แต่ไม่สามารถบอกเหตุผลว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้ การวิจัยเชิงคุณภาพด้านชาติพันธุ์วรรณาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคุณจะได้เรียนรู้ว่าผู้ใช้ของคุณรู้สึกอย่างไรจริงๆ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาแบบนอกกรอบทั้งหมดของพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ฉันชอบค้นพบมากที่สุด”
ใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อศึกษาผู้ใช้ของคุณ
- สังเกต: เฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ใช้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ
- มีส่วนร่วม: สัมภาษณ์และโต้ตอบกับผู้ใช้
- ทำความเข้าใจ: ลองมองโลกจากมุมมองของผู้ใช้
2. กำหนดปัญหา: ระบุปัญหาที่คุณจะแก้ไข
ขั้นตอนถัดไป คือ นำสิ่งที่คุณค้นพบจากขั้นตอนการเอาใจใส่ก่อนหน้านี้ไปใช้ในช่วงการระดมความคิดหลายครั้งต่อเนื่องกัน เพื่อให้ทีมของคุณระบุปัญหาหลักหนึ่งปัญหาที่สามารถแก้ไขได้สำหรับผู้ใช้ รวมถึงอธิบาย “มุมมอง” ของทีม หรือวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ที่ผลิตภัณฑ์ของคุณจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ คุณควรพิจารณาปัญหาจากมุมมองของผู้ใช้ ไม่ใช่จากมุมมองของธุรกิจของคุณ
3. คิดหาไอเดีย: คิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์
คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาที่หลากหลายและสร้างสรรค์สำหรับปัญหาของคุณ โดยคุณต้องเปิดใจให้กว้างในขั้นตอนนี้และอย่าปฏิเสธแนวคิดใดๆ ก่อนที่จะมีโอกาสสร้างต้นแบบและทดสอบแนวคิดเหล่านั้น ซึ่งการสร้างไอเดียสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และเทคนิคการคิดหาไอเดียสามารถยืมมาจากวงการอื่นได้
“การเปิดรับไอเดียจากทุกที่เป็นเรื่องสำคัญ” Dryer อธิบาย “หนึ่งในโปรเจกต์ที่เพื่อนร่วมงานของฉันมีส่วนร่วมด้วยเกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉิน พวกเขาจึงไปศึกษาแนวทางที่ประสบผลสำเร็จของทีมช่างซ่อมรถแข่ง NASCAR เพราะงานทั้งสองอย่างนั้นมีความกดดันสูงและหนักหน่วงมาก ซึ่งการประสานงานของทีมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”
4. สร้างต้นแบบ: ล้มเหลวไว เรียนรู้ไว
ในขั้นตอนการสร้างต้นแบบ ทีมออกแบบของคุณควรเริ่มต้นสร้างต้นแบบที่เรียบง่ายและคุ้มต้นทุนสำหรับไอเดียต่างๆ จากช่วงคิดหาไอเดีย โดยต้นแบบของคุณไม่จำเป็นต้องหรูหราหรือมีราคาแพง ซึ่งต้นแบบสามารถเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่โพสอิทหลายแผ่น ไปจนถึงแบบจำลองดิจิทัลเสมือนจริงแบบโต้ตอบของแอปหรือเว็บไซต์โดยใช้โปรแกรม เช่น Adobe XD และอย่าท้อถอยเมื่อผู้ใช้ของคุณประสบกับปัญหา เพราะจุดประสงค์ของต้นแบบคือการเปิดเผยปัญหา ยิ่งตัวต้นแบบของคุณ “ล้มเหลว” เร็วเท่าไหร่ คุณก็จะหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าได้เร็วขึ้นเท่านั้น
5. ทดสอบ: กลับไปยังกระดานวาดภาพ
ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการคิดเชิงออกแบบคือการทดสอบ ซึ่งดำเนินการโดยเผยแพร่ต้นแบบของคุณให้กับกลุ่มผู้ใช้ จากนั้นดูว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับต้นแบบอย่างไร และการออกแบบของคุณมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง โดยโอกาสสำหรับการเรียนรู้จากประสบการณ์การใช้งานของลูกค้านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงต้นแบบถัดไปของคุณ
“ไม่ต้องเครียดกับการหาคนที่เหมาะสม” Dryer กล่าว “คุณสามารถเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้จากเกือบทุกคนที่คุณพูดคุยด้วย เพราะจากการวิจัยทางชาติพันธุ์วรรณาเชิงลึก ฉันพบว่าไม่จำเป็นต้องสัมภาษณ์คนมากมายก็ได้ถึงจะเริ่มมองเห็นพฤติกรรมรูปแบบต่างๆ” นอกจากนี้ Dryer ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เพื่อนร่วมงานของคุณตรวจสอบต้นแบบเพื่อความเป็นไปได้ทางเทคนิคและความคุ้มค่าทางธุรกิจ
คุณจำเป็นต้องสร้างต้นแบบและทำการปรับปรุงหลายเวอร์ชันก่อนที่จะได้สิ่งที่ถูกใจ ซึ่งการทดสอบอาจเผยให้เห็นวิธีที่ดีกว่าในการกำหนดกรอบปัญหาของคุณ และเปิดโอกาสให้กับการคิดหาไอเดียใหม่ๆ มากขึ้น อีกทั้งพร้อมที่จะคิดอย่างยืดหยุ่น และอย่ากลัวที่จะเริ่มต้นจากศูนย์
สร้างทีมคิดเชิงออกแบบที่ประสบความสำเร็จ
ทีมของคุณคือหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการคิดเชิงออกแบบที่สำคัญที่สุด โดย Dryer แนะนำให้ตั้งกฎพื้นฐานบางส่วนไว้เพื่อให้แน่ใจว่าทีมของคุณจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่ที่สุด
- ให้ความสำคัญกับผู้ใช้“กฎข้อแรกคือเราจะให้ความสำคัญกับลูกค้าเสมอ” เธอกล่าว “เราจะไม่คิดเพียงแค่จากมุมมองของพวกเราเอง”
- คิดดีต่อผู้อื่น“กฎสำคัญข้อที่สองคือคิดดีต่อผู้อื่นและพยายามทำความเข้าใจพวกเขา” เธอกล่าว
- ส่งเสริมความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์ กฎข้อที่สามของ Dryer การคิดเชิงออกแบบคือพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเสนอไอเดียได้อย่างอิสระและไม่ถูกตัดสิน “ทุกคนคือนักออกแบบ หากคุณกำลังฝึกคิดเชิงออกแบบ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นกับคนในทีมอย่างเท่าเทียมเช่นกัน เพราะทุกคนมีพลังในการสร้างสรรค์และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้” เธอกล่าว
เลือกใช้เครื่องมือการออกแบบที่ดีที่สุด
เข้าถึงเครื่องมือการออกแบบที่ดีที่สุดสำหรับทุกขั้นตอนของกระบวนการออกแบบด้วย Adobe Creative Cloud พัฒนาจากโครงร่างไปสู่ต้นแบบที่สามารถทดลองโต้ตอบได้ ซึ่งคุณสามารถแชร์กับกลุ่มผู้ทดสอบได้อย่างง่ายดาย ดูวิธีการจากบทช่วยสอนทีละขั้นตอนนี้
การลงทุนกับเวลาในการคิดเชิงออกแบบจะช่วยเหลือคุณได้ในระยะยาว “นี่คือกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้” Dryer กล่าว “ในระหว่างกระบวนการคิดเชิงออกแบบ คุณจะได้เรียนรู้ถึงข้อบกพร่องหรือสิ่งที่มีแนวโน้มว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงของผลิตภัณฑ์” เริ่มต้นกระบวนการวันนี้แล้วดูว่าคุณจะสามารถคิดค้นโซลูชันอันน่าทึ่งอะไรได้บ้าง
ผู้มีส่วนร่วม
Meg Dryer และ Sara Berndt
https://main--cc--adobecom.hlx.page/cc-shared/fragments/seo-articles/do-more-illustrator-color-blade