ไฟล์ JPEG
รูปแบบไฟล์ JPEG เป็นรูปแบบไฟล์ธรรมดาทั่วไปสำหรับการจัดเก็บและแสดงผลรูปภาพในชีวิตประจำวัน ซึ่งพบได้ทุกที่ตามเว็บเบราวเซอร์และสมาร์ทโฟน มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของรูปภาพ JPEG วัตถุประสงค์ในการใช้งานไฟล์ประเภทนี้ และวิธีใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติการบีบอัดของไฟล์ประเภทนี้
สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้
- ไฟล์ JPEG คืออะไร
- ประวัติของไฟล์ JPEG
- ไฟล์ JPEG มีไว้ใช้ทำอะไร
- ข้อดีและข้อเสียของไฟล์ JPEG
- วิธีการเปิดไฟล์ JPEG
- วิธีการสร้างและแก้ไขไฟล์ JPEG
- ไฟล์ JPEG: คำถามที่พบบ่อย
ไฟล์ JPEG คืออะไร
JPEG ย่อมาจาก Joint Photographic Experts Group ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ทำให้รูปแบบไฟล์นี้เป็นรูปแบบมาตรฐานในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 JPEG เป็นรูปแบบไฟล์อันดับแรกๆ ที่นิยมใช้สำหรับรูปภาพดิจิทัล และเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอดนับแต่ที่ช่างภาพเริ่มถ่ายและจัดเก็บรูปภาพบนกล้องดิจิทัลและอุปกรณ์จำลองภาพอื่นๆ
รูปภาพ JPEG จะมีนามสกุลไฟล์ต่อไปนี้
- .jpg
- .jpeg
- .jpe
- .jif
- .jfif
- .jfi
ไฟล์ JPEG นั้นรองรับสีได้ถึง 24 บิตและใช้การบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูลในการบีบอัดรูปภาพเพื่อให้จัดเก็บและส่งภาพได้สะดวกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ไฟล์ JPEG จึงเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่ก็หมายความว่าคุณต้องยอมเสียคุณภาพบางส่วนของรูปภาพต้นฉบับไป
ประวัติของไฟล์ JPEG
ในปี 1986 เทคโนโลยีจอภาพยังไม่สามารถสร้างกราฟิกบนหน้าจอได้ ในตอนนั้นเอง กลุ่มที่ชื่อว่า International Organization for Standardization (ISO) ได้เริ่มพัฒนาวิธีการนำรูปภาพที่สมจริงราวกับภาพถ่ายมาใส่ในหน้าจอเล็กๆ ทั่วโลก
ขณะเดียวกับ กลุ่ม Joint Photographic Experts Group (JPEG) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและสร้างมาตรฐานของตนเองในการบีบอัดไฟล์กราฟิกให้เล็กมากพอที่จะแสดงผลบน PC ทั่วไปได้ พวกเขาได้สร้างแนวคิดเกี่ยวกับการบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูลขึ้นมา ซึ่งจะลบข้อมูลรูปภาพที่มนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและทำการเฉลี่ยความแตกต่างของสี
ไฟล์ JPEG ประสบความสำเร็จพร้อมกับการมาถึงของกล้องดิจิทัลและเวิลด์ไวด์เว็บ ปัจจุบัน ใครๆ ก็สามารถถ่ายและจัดเก็บรูปภาพไว้ในไฟล์ที่เล็กพอจะใส่ไว้ในพื้นที่เก็บข้อมูลอันจำกัดของกล้อง ในขณะที่ยังแสดงผลรูปภาพได้ดีพอสมควรได้ คุณค่าที่แท้จริงของไฟล์ JPEG คือความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลเมตา เช่น สถานที่และเวลาที่ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งการตั้งค่าของกล้อง
แต่ช่างภาพที่จริงจังยังคงเลี่ยงไม่ถ่ายภาพเป็น JPEG เนื่องจากพวกเขาต้องการเก็บรายละเอียดทั้งหมดของรูปภาพไว้สำหรับกระบวนการปรับแต่งภาพหลังการถ่ายหรือการพิมพ์ อย่างไรก็ตาม รูปแบบไฟล์นี้ก็ยังคงเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้คนทั่วไปอยู่ดี
ไฟล์ JPEG มีไว้ใช้ทำอะไร
ไฟล์ JPEG สามารถแสดงสีได้ถึง 16.8 ล้านสี ทั้งยังมีขนาดไฟล์ที่ค่อนข้างเล็ก ด้วยเหตุนี้เอง ช่างภาพและผู้เผยแพร่เนื้อหาบนเว็บจึงต่างเลือกใช้ไฟล์ประเภทนี้
การแสดงผลภาพถ่าย
แม้ช่างภาพมักถ่ายภาพในรูปแบบ RAW เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถเก็บภาพได้อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่พวกเขาก็แชร์ผลงานจากน้ำพักน้ำแรงของตนบนโลกออนไลน์ในรูปแบบ JPEG บ่อยครั้ง ด้วยขนาดที่เล็กกว่าของไฟล์ ผู้คนจึงสามารถเปิดไฟล์ JPEG ได้เร็วขึ้นในเบราว์เซอร์ส่วนมาก (รวมถึงมือถือ) โดยไม่มีการลดทอนคุณภาพมากเกินไป
การเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บ
ทุกคนตั้งแต่ผู้เผยแพร่เจ้าใหญ่ไปจนถึงบล็อกเกอร์ล้วนได้ประโยชน์จากการใช้ไฟล์ JPEG บนเว็บไซต์ของตน หน้าเว็บที่โหลดเร็วขึ้นทำให้ผู้อ่านเข้าถึงเนื้อหาได้ไวขึ้น อีกทั้งไฟล์ JPEG ก็ไม่ได้ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลในระบบคลาวด์มากนัก
ทำความรู้จักกับไฟล์ราสเตอร์ประเภทอื่นๆ
ข้อดีและข้อเสียของไฟล์ JPEG
ประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับ JPEG คือการแลกเปลี่ยนคุณภาพของรูปภาพกับขนาดที่เล็กของไฟล์
ข้อดีของไฟล์ JPEG
- ไฟล์ JPEG อาจเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบไฟล์ภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุด ซึ่งเข้ากันได้กับเบราวเซอร์ ซอฟต์แวร์ และแอปส่วนมาก
- ขนาดไฟล์ที่เล็กทำให้ผู้ใช้ถ่ายโอนไฟล์ได้เร็วและสามารถเข้าถึงเพื่อดูไฟล์บนโลกออนไลน์ได้อย่างว่องไว ไฟล์ JPEG สามารถมีขนาดที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยอาศัยการละทิ้งสีที่ดวงตามนุษย์ไม่สามารถแยกออกทั้งหมดอย่างชาญฉลาด ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่าการบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูล เมื่อเปรียบเทียบกับไฟล์รูปแบบไม่สูญเสียข้อมูลอย่าง GIF แล้ว ไฟล์ JPEG จะมีขนาดเล็กกว่าอย่างมหาศาล
- กระบวนการปรับแต่งภาพหลังการถ่ายจะง่ายขึ้นเนื่องจากสมดุลสีขาวและความเข้มในไฟล์ JPEG นั้นถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ตอนกดชัตเตอร์
ข้อเสียของไฟล์ JPEG
- การบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูลอาจช่วยประหยัดพื้นที่ แต่เมื่อต้องรับมือกับรูปภาพที่ผ่านการบีบอัดอย่างหนัก คุณภาพจะย่ำแย่ลง รูปภาพที่มีขอบและเส้นชัดเจนจะสูญเสียความคมชัดไปในระหว่างการบีบอัด
- การสูญเสียข้อมูลจำนวนมากอาจก่อให้เกิด “การกลายเป็นโปสเตอร์” (Posterization) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่รูปภาพสูญเสียการไล่ระหว่างสีที่เรียบเนียน ทำให้รูปภาพแลดูแตกแยกเป็นบล็อก และขาดตอน นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดอาร์ติแฟค เช่น รอยหยักบนขอบ วงแสง หรือนอยส์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพของรูปภาพได้ ช่างภาพสามารถหลีกเลี่ยงกับดักที่อาจนำไปสู่อาร์ติแฟคและการกลายเป็นโปสเตอร์ได้ด้วยการบันทึกภาพถ่ายเป็นรูปแบบ RAW
วิธีการเปิดไฟล์ JPEG
ในเว็บเบราว์เซอร์ (Windows)
หากคุณเห็นรูปภาพบนหน้าเว็บและต้องการดูภาพดังกล่าวเพียงอย่างเดียวคุณสามารถเปิดรูปภาพนั้นได้ในแท็บใหม่ โดยคลิกขวาที่รูปภาพ (บน PC) แล้วเลือก Open Image in New Tab (เปิดรูปภาพในแท็บใหม่) หรือตัวเลือกที่คล้ายกัน
ในเว็บเบราว์เซอร์ (Mac)
หากคุณใช้งาน Safari หรือเบราว์เซอร์อื่นๆ บน Mac คุณจะเห็นตัวเลือกแบบเดียวกันกับด้านบนสำหรับการเปิดรูปภาพในแท็บใหม่ เพียงกดปุ่ม Command ค้างไว้แล้วคลิกที่รูปภาพเพื่อแสดงเมนู จากนั้นจึงเลือก Open Image in New Tab (เปิดรูปภาพในแท็บใหม่)
จากเดสก์ท็อปหรือฮาร์ดไดร์ฟของคุณ
คอมพิวเตอร์ของคุณน่าจะมีโปรแกรมดูรูปภาพเริ่มต้น เช่น โปรแกรม Photos ใน Windows หรือ Preview ใน Mac หากต้องการเปิดไฟล์ที่บันทึกเอาไว้ในคอมพิวเตอร์ของคุณ ให้ดับเบิลคลิกที่ไฟล์รูปภาพบนเดสก์ท็อปแล้วระบบก็จะเปิดไฟล์ขึ้นมาโดยใช้โปรแกรมเริ่มต้น
นอกจากนี้ คุณก็สามารถใช้โปรแกรมที่ชื่นชอบเพื่อดูภาพถ่ายบน Windows ได้
- ให้คลิกขวาที่รูปภาพบนเดสก์ท็อปหรือหน้าต่างเครื่องมือค้นหาไฟล์
- เลื่อนลงไปยังคำสั่ง Open With (เปิดด้วย) จากนั้นเลื่อนเคอร์เซอร์ไปทางขวาเพื่อดูรายการโปรแกรมที่ระบบกำหนดไว้สำหรับเปิดไฟล์ JPEG ของคุณ
วิธีการสร้างและแก้ไขไฟล์ JPEG
เมื่อคุณต้องการบันทึกไฟล์ที่ปรับแต่งเสร็จแล้วใน Adobe Photoshop คุณสามารถบันทึกเป็นไฟล์ JPEG ได้โดยคลิกที่เมนู File (ไฟล์) แล้วเลือก Save As (บันทึกเป็น)
คุณสามารถกลับไปแก้ไขไฟล์ได้ทุกเมื่อ เพียงเปิด Photoshop แล้วเลือกเมนู File (ไฟล์) จากนั้นเลือก Open (เปิด) เพื่อค้นหาไฟล์ในหน้าต่างเครื่องมือค้นหาไฟล์ อย่างไรก็ตาม ไฟล์ JPEG อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการบันทึกงานที่ยังปรับแต่งไม่เสร็จดีใน Photoshop เนื่องจากการบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูลอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของรูปภาพ และอาจทำให้คุณสูญเสียเอฟเฟกต์บางอย่างในชิ้นงานไปได้ หากเป็นกรณีเช่นนี้ ให้ลองบันทึกเป็นรูปแบบไฟล์อื่น เช่น ไฟล์ PSD แทน
ไฟล์ JPEG: คำถามที่พบบ่อย
JPG เหมือนกับ JPEG หรือไม่
JPG และ JPEG นั้นเหมือนกัน นามสกุลไฟล์แบบสามตัวอักษรเกิดจากข้อจำกัดของ Windows และ MS-DOS เวอร์ชันเก่า ระบบปฏิบัติการเหล่านี้ได้กำหนดให้นามสกุลไฟล์ทุกประเภทมีความยาวสามตัวอักษร โดยปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว
การบีบอัดของ JPEG สามารถลดขนาดไฟล์ได้อย่างไร
การบีบอัดของ JPEG สามารถลดขนาดไฟล์ได้โดยการเปลี่ยนค่าสีและจัดกลุ่มพิกเซลเป็นบล็อกที่มีสีเดียวเพื่อไม่ให้ไฟล์ต้องจัดเก็บพิกเซลที่มีสีแตกต่างกันในจำนวนมากเกินไป แม้ว่ากระบวนการเช่นนี้จะทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กลง แต่ก็จะทำให้รูปภาพจริงเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันเนื่องจากมีสีที่ไม่เหมือนเดิม
ภาพถ่าย iPhone เป็นรูปภาพ JPEG หรือไม่
iPhone รุ่นเก่าจะเก็บรูปภาพเป็นไฟล์ JPEG อย่างไรก็ตาม ประเภทไฟล์เริ่มต้นได้กลายเป็น HEIC นับแต่มี iOS 11 เป็นต้นมา ทั้งนี้ คุณสามารถเปลี่ยนการกำหนดลักษณะได้ในการตั้งค่า ความเข้ากันได้ ในแอป iPhoto
ข้อมูลเมตา JPEG คืออะไร
Exchangeable Image File Format หรือ EXIF เป็นข้อมูลที่อยู่ในไฟล์ JPEG ซึ่งจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้ เช่น
- วันที่และเวลาที่สร้างรูปภาพ
- การตั้งค่าของกล้อง เช่น รุ่นกล้อง รูรับแสง และความเร็ว ISO
- ภาพขนาดย่อสำหรับดูตัวอย่างในตัวจัดการไฟล์และบนหน้าจอ LCD ของกล้อง
- ข้อมูลลิขสิทธิ์
- แท็กระบุตำแหน่งเพื่อระบุว่ารูปภาพดังกล่าวถ่ายจากที่ไหน
ฉันจะดูข้อมูลเมตา JPEG ได้อย่างไร
คุณสามารถดูข้อมูล EXIF ใน Windows ได้โดยคลิกขวาที่รูปภาพ เลือก Properties (คุณสมบัติ) จากนั้นเลือก Details (รายละเอียด) แล้วเลื่อนลงมา หากต้องการดูข้อมูล EXIF ใน Mac ให้เปิดรูปภาพใน Photos แล้วเลือก Get Info (รับข้อมูล)
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทไฟล์ที่คล้ายกับ JPEG
เปรียบเทียบ JPEG กับไฟล์ประเภทอื่น
เปรียบเทียบไฟล์ราสเตอร์ทั้งสองประเภทนี้เพื่อดูว่าไฟล์ประเภทไหนที่ผ่านเกณฑ์บ้าง
ไฟล์รูปแบบใดที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพด้วยกล้องมากกว่ากัน
ไฟล์ใดเหมาะกับการแก้ไขภาพมากกว่ากันระหว่างไฟล์ TIFF กับ JPEG
เปรียบเทียบ JPEG กับรูปแบบไฟล์กรรมสิทธิ์เฉพาะของ Adobe เพื่อดูว่าไฟล์ประเภทใดที่มีคุณภาพและแชร์ได้ดีกว่ากัน
ต้องการลดขนาดไฟล์ JPEG หรือไม่ เรียนรู้ วิธีการบีบอัดภาพ
แผน Lightroom
แก้ไข จัดระเบียบ จัดเก็บ และแชร์ภาพถ่ายได้จากทุกที่
ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น ฿380.92/เดือน.(รวม VAT)
การถ่ายภาพ
รับ Lightroom, Lightroom Classic, Photoshop และเนื้อที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ 20 GB ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น฿304.95/เดือน.(รวม VAT)
All Apps
รับคอลเลกชันแอปสร้างสรรค์ทั้งหมดและอีกมากมาย
ทดลองใช้ฟรี 7 วัน จากนั้น ฿1,143.83/เดือน