ทางเลือกระหว่างแบบอักษร Serif และ Sans Serif

“โดยพื้นฐานแล้ว การออกแบบตัวอักษรคือศิลปะแห่งคำ” Dylan Todd กล่าว “เมื่อคุณออกแบบด้วยตัวอักษร แบบตัวพิมพ์ที่คุณเลือกจะช่วยบอกเล่าเรื่องราว”

แบบตัวพิมพ์สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังดูได้มากมาย เช่น แบบตัวพิมพ์ในโลโก้สามารถบอกเล่าประวัติและทัศนคติที่บริษัทพยายามจะถ่ายทอดได้ แบบตัวพิมพ์ในโฆษณาสามารถบ่งบอกถึงกลุ่มเป้าหมายที่โฆษณาต้องการเข้าถึงได้อย่างละเอียด และแบบตัวพิมพ์บนปกหนังสือและโปสเตอร์ภาพยนตร์สามารถบ่งบอกประเภทของเนื้อเรื่องได้ ซึ่งการหาแบบอักษรที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโปรเจกต์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หนึ่งในวิธีการเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าวคือการตัดสินใจว่าแบบตัวพิมพ์ Serif หรือ Sans Serif เหมาะสมกว่ากัน

Serif คืออะไร

Serif คือเส้นเล็กๆ ที่ติดอยู่กับตัวอักษร ต้นกำเนิดของ Serif นั้นยังคงเป็นปริศนา โดยมีทฤษฎีหนึ่งระบุว่า Serif เกิดขึ้นเมื่อนักเขียนใช้พู่กันหรือปากกาขนนกเขียนข้อความแล้วทิ้งรอยเล็กๆ ไว้ด้วยอุปกรณ์การเขียนหลังจากเขียนเสร็จแต่ละครั้ง ซึ่งสิ่งนี้พัฒนาไปเป็นการเพิ่มเส้นเล็กๆ เข้าไปในตัวอักษรในรูปแบบที่สม่ำเสมอและสวยงามยิ่งขึ้นอย่างตั้งใจ และเส้นตกแต่งเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะต้องมีของตัวอักษร

ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ “T” แสดงในรูปแบบที่มีและไม่มี Serif

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบอักษร

หากคุณกำลังมองหาคอร์สเรียนแบบเร่งรัด ให้ลองศึกษาพื้นฐานของแบบตัวพิมพ์ด้วยคำแนะนำนี้เพื่อทำความเข้าใจและใช้งานแบบอักษร

เมื่อใดที่ควรใช้แบบอักษร Serif

แบบอักษร Serif สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ เป็นมืออาชีพ ตลอดจนสื่อถึงความเป็นมาอันยาวนานหรือประสบการณ์ แบบตัวพิมพ์ Serif เช่น Times New Roman เปรียบเสมือนตัวแทนของสไตล์แบบเครื่องพิมพ์ดีดในอดีต ซึ่ง The New York Times และสถาบันที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ที่ดำรงอยู่มานานกว่าศตวรรษยังคงใช้แบบอักษรนี้อยู่ “แบบตัวพิมพ์เหล่านี้ให้กลิ่นอายแบบคลาสสิก” นักออกแบบ Madeline DeCotes กล่าว

โดย Todd ผู้ใช้แบบอักษร Serif เพื่อกระตุ้นให้นึกถึงกลิ่นอายแบบยุคสมัยในอดีตกล่าวว่า “แบบอักษร Serif สามารถมีรูปลักษณ์ที่เป็นทางการมากขึ้นได้” เมื่อทำการออกแบบหนังสือสำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Todd ได้ใช้แบบอักษร Sherif เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกก่อนจะมีแนวทางการออกแบบสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม Serif ก็ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานได้จริงในฐานะแบบอักษรของส่วนเนื้อหาหลักด้วย “Serif จะอ่านได้ง่ายกว่าแบบอักษรอื่นเมื่อตัวอักษรมีขนาดเล็ก” DeCotes กล่าว “เมื่อคุณอ่านเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ที่มีแบบอักษรขนาด 9.5 Serif จะช่วยให้คุณแยกรูปแบบตัวอักษรได้ง่ายขึ้น และทำให้การอ่านลื่นไหลมากขึ้น”

บุคคลสวมเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อนกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะไม้

สำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับช่องไฟ

ไม่ใช่แค่ตัวอักษรที่คุณเลือกใช้เท่านั้น แต่ระยะห่างระหว่างตัวอักษรก็สำคัญเช่นกัน เรียนรู้พื้นฐานของการจัดช่องไฟด้วยคำแนะนำจาก Adobe Illustrator นี้

เมื่อใดที่ควรใช้แบบอักษร Sans Serif

แม้ว่างานเขียนเก่าๆ บางส่วนจะไม่มีแบบอักษร Serif เช่น อักษรรูนนอร์ส แต่แบบอักษร Sans Serif ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับแบบตัวพิมพ์สมัยใหม่ ในปี 1928 แบบตัวพิมพ์ Futara ได้กลายเป็นหนึ่งในแบบอักษร Sans Serif แรกๆ ที่ได้รับความนิยม และจากนั้นไม่นานจึงตามมาด้วยแบบตัวพิมพ์อื่นๆ เช่น Helvetica

แบบตัวพิมพ์ Sans Serif ได้รับการวิจารณ์และไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อมีการนำมาใช้ครั้งแรก ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “แปลกประหลาด” แต่เมื่อเหล่านักออกแบบแนวโมเดิร์น เช่น กลุ่มนักออกแบบสไตล์เบาเฮาส์ นำแบบตัวพิมพ์ Sans Serif มาใช้ แบบอักษรเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบที่ล้ำสมัย การค้าขาย และความพยายามของนักออกแบบแนวโมเดิร์นที่ต้องการหลุดพ้นจากอดีต

ป้าย “Sorry, we are closed” ที่ออกแบบด้วยแบบอักษร Serif และ Sans Serif

ความเกี่ยวข้องข้างต้นนั้นยังคงดำรงอยู่ เช่น Todd ใช้ Sans Serif สำหรับเนื้อเรื่องของหนังสือการ์ตูน ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองลอสแองเจลิสยุคใหม่ที่มีทั้งความทันสมัยและความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม แบบตัวพิมพ์ Sans Serif ยังสามารถสะท้อนถึงลักษณะของลายมือในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีเส้นที่ยื่นออกมาเพิ่มเติมเหมือนที่เขียนด้วยพู่กันหรือปากกาขนนก “ความเชื่อที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือแบบอักษร Sans Serif นั้นออกแบบมาเพื่อเลียนแบบลายมือ ซึ่งมีความไหลลื่นและต่อเนื่องมากกว่า” Todd กล่าว

แบบอักษร Sans Serif ยังใช้งานได้ดีในพื้นที่ที่จำกัดอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ป้าย ข้อความในแอป และชื่อในแผนที่มักจะใช้ Sans Serif (แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีเช่นกัน โดยแบบอักษร Sans Serif บางส่วน เช่น Arial ได้รับการออกแบบมาให้ใช้เป็นแบบอักษรของส่วนเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อความที่มีความยาวอย่างน้อยหนึ่งประโยค)

“หากคุณกำลังสร้างแอปหรือออกแบบเว็บไซต์ การใช้ Sans Serif จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด” DeCotes กล่าว เนื่องจากความอ่านง่ายเป็นปัญหาในหน้าจอที่มีขนาดเล็กหรือความละเอียดต่ำ เธอกล่าวเพิ่มอีกว่า “Sans Serif นั้นเหมาะสำหรับแอปค้นหาเส้นทางหรือป้ายบอกทาง” หนึ่งในแบบอักษรที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาอย่าง Clearview นั้นเป็นแบบอักษร Sans Serif ซึ่งออกแบบมาสำหรับป้ายทางหลวงโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้ขับขี่จำเป็นต้องอ่านแบบตัวพิมพ์ที่มีขนาดเล็กจากระยะไกล Sans Serif จึงเหมาะสมมากในกรณีนี้

เรียนรู้การผสมและจับคู่แบบอักษร

เรียนรู้วิธีใช้การผสมผสานระหว่างแบบอักษรกับงานออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากแบบอักษรต่างๆ อย่างเต็มที่ด้วยบทความจากนิตยสาร Adobe Create นี้

แบบจำลองบทความหนังสือพิมพ์ที่ใช้แบบอักษร Serif และ Sans Serif ตัวหนาและเด่นชัด
แบบจำลองบทความข่าวที่ใช้แบบอักษร Sans Serif สำหรับหัวเรื่องและ Serif สำหรับส่วนเนื้อหาหลัก
แบบจำลองบทความหนังสือพิมพ์ที่ใช้แบบอักษรที่มีช่องไฟชิดกัน รวมถึงแบบอักษร Serif และ Sans Serif
ท้ายที่สุดแล้ว การค้นหาแบบอักษรที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการหาสมดุลระหว่างแบบอักษรที่จะนำมาใช้กับข้อความส่วนเนื้อหา ประสบการณ์ผู้ใช้ที่คุณต้องการ และทัศนคติที่คุณพยายามจะถ่ายทอด นอกจากนี้ แบบอักษร Serif และ Sans Serif ต่างมีเวลาและสถานการณ์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งการรู้ว่าเมื่อใดควรเลือกใช้แบบอักษรไหนถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักออกแบบทุกคน

ผู้มีส่วนร่วม

Dylan Todd และ Madeline DeCotes


https://main--cc--adobecom.hlx.page/cc-shared/fragments/seo-articles/creativity-for-all-blade

คุณอาจสนใจสิ่งเหล่านี้ด้วย