การถ่ายภาพ
BMP เทียบกับ PNG
BMP และ PNG เป็นประเภทไฟล์รูปภาพที่มีคุณภาพสูงและมีขนาดใหญ่ทั้งคู่ ขณะที่ไฟล์ BMP เป็นไฟล์ RAW ที่ไม่มีการบีบอัด แต่คุณสามารถบีบอัดไฟล์ PNG เพื่อให้มีขนาดเล็กลงและง่ายต่อการจัดการมากขึ้นได้ อ่านต่อเลยเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างหลักๆ ระหว่างรูปแบบ BMP กับรูปแบบ PNG
https://main--cc--adobecom.hlx.page/cc-shared/fragments/seo-articles/get-started-notification-blade
ไฟล์ PNG คืออะไร
PNG ย่อมาจาก Portable Network Graphic เดิมทีนั้น ไฟล์ PNG ออกแบบมาเพื่อการนำรูปภาพคุณภาพสูงมาใช้งานบนอินเทอร์เน็ต โดยไฟล์จะมีขนาดใหญ่ ใช้งานได้หลากหลาย และมีข้อดีที่การบีบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูล ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถปรับขนาดรูปภาพได้โดยไม่ทำให้คุณภาพลดลง แม้ไฟล์ประเภทอื่นจะมีความแพร่หลายมากกว่า แต่ไฟล์ PNG นั้นถือว่าเป็นเครื่องมือชิ้นโปรดของเหล่านักออกแบบกราฟิกเลยทีเดียว
ไฟล์ BMP คืออะไร
BMP ย่อมาจากคำว่า Bitmap (บิตแมป) ซึ่งเป็นประเภทไฟล์ที่สามารถแสดงภาพได้อย่างแม่นยำโดยไม่ขึ้นกับอุปกรณ์ที่แสดงรูปภาพ รูปแบบไฟล์นี้จะรักษาคุณภาพของรูปภาพให้อยู่ในระดับสูงและรักษารายละเอียดจำนวนมากของรูปภาพเอาไว้โดยจัดการพิกเซลแต่ละพิกเซลของรูปภาพแยกกัน แม้คุณสมบัติเช่นที่ว่าไปจะทำให้ไฟล์ BMP ทั่วไปมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ส่งผลให้ไฟล์ประเภทนี้แก้ไขได้ง่ายด้วยเช่นกัน
ไฟล์ BMP กับไฟล์ PNG แตกต่างกันอย่างไร
ไฟล์ BMP กับไฟล์ PNG นั้นเหมือนกันในหลายด้าน ทั้งคู่เป็นไฟล์ประเภทราสเตอร์ที่พัฒนาขึ้นและเปิดตัวในปีเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดระหว่างไฟล์ทั้งสองประเภทคือการบีบอัด
ไฟล์ BMP นั้นเป็นไฟล์ที่ไม่มีการบีบอัดและเป็นไฟล์แบบไม่สูญเสียข้อมูล ไฟล์ประเภทนี้เป็นไฟล์ขนาดใหญ่ที่จะเก็บรายละเอียดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทางกลับกัน ไฟล์ PNG นั้นเป็นไฟล์ที่มีการบีบอัด แต่ก็เป็นไฟล์แบบไม่สูญเสียข้อมูลเช่นกัน คุณจะไม่สูญเสียข้อมูลใดๆ เมื่อย่อหรือขยายไฟล์ PNG ไฟล์ PNG มีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าและสามารถบีบอัดได้จึงใช้ง่ายกว่า
ความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างไฟล์ BMP กับไฟล์ PNG มีดังนี้
รูปภาพที่มีความสมจริงมากขึ้น
บางครั้งไฟล์ BMP ก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “รูปภาพที่สมจริง” เนื่องจากมีการเรนเดอร์พิกเซลแต่ละพิกเซลแยกกันภายในไฟล์ ไฟล์ประเภทนี้ไม่ได้บีบอัดโดยอัตโนมัติ จึงทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่ ดังนั้น การมีไฟล์ BMP จำนวนมากๆ จะทำให้หน่วยความจำและพื้นที่จัดเก็บเหลือน้อยลงอย่างรวดเร็ว
ส่วนไฟล์ PNG จะแสดงผลรูปภาพคุณภาพสูงเช่นกัน แต่ต่างกับ BMP ตรงที่ใช้การบีบอัด ไฟล์ประเภทนี้เหมาะสำหรับกราฟิกที่เรียบง่าย เช่น ไอคอน โลโก้ ภาพวาดลายเส้น การ์ตูนช่อง และกราฟิกแบบฝัง
ขนาดไฟล์
หากรูปภาพหรือเนื้อหาเหมือนกัน ไฟล์ BMP จะมีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ PNG ไฟล์ทั้งสองประเภทจะเก็บรายละเอียดและข้อมูลไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไฟล์ PNG มีการบีบอัดโดยอัตโนมัติ และสามารถบีบอัดอีกครั้งเพื่อให้ไฟล์มีขนาดเล็กลงไปอีกได้ ส่วนไฟล์ BMP นั้นมีข้อจำกัดด้านขนาดกว้างยาวของรูปภาพ โดยจะมีขนาดได้ไม่เกิน 4GB เท่านั้น เนื่องจากไฟล์ประเภทนี้จะจัดการพิกเซลแต่ละพิกเซลแยกจากกัน
การใช้งานทั่วไป
BMP จะจัดเก็บรูปภาพคุณภาพสูงโดยคงรายละเอียดไว้ให้มากที่สุด เมื่อเปิดตัวครั้งแรก คุณสมบัตินี้ทำให้ BMP เหมาะสำหรับการแก้ไขอย่างยิ่ง แต่ไฟล์ประเภทที่พัฒนาขึ้นในภายหลังนั้นเหนือกว่าไฟล์ BMP ในแง่ของการใช้งานเพื่อการแก้ไข ผู้คนในปัจจุบันจึงใช้ไฟล์ BMP เพื่อจัดเก็บข้อมูลกันเป็นส่วนใหญ่
วัตถุประสงค์แต่เดิมของไฟล์ PNG คือการนำรูปภาพมาใช้งานบนเว็บไซต์ โดยไฟล์ประเภทนี้เป็นส่วนสำคัญของเว็บไซต์จำนวนมาก และเหมาะสำหรับใช้เป็นภาพประกอบ ภาพร่าง ภาพวาด โลโก้ และไอคอนขนาดเล็ก นักออกแบบกราฟิกมักจะใช้ไฟล์ PNG สำหรับงานกราฟิกแบบสแตนด์อโลน
ทั้งนี้ PNG จะช่วยให้การใช้งานเกี่ยวกับความโปร่งใสในไฟล์นั้นง่ายเป็นพิเศษเมื่อรูปภาพมีวัตถุเพียงชิ้นเดียวและมีเส้นขอบที่ชัดเจน รวมถึงมีพื้นที่ขนาดใหญ่ล้อมรอบวัตถุดังกล่าว เช่น โลโก้หรือไอคอน นักออกแบบกราฟิกจึงสามารถนำรูปภาพเหล่านั้นไปใช้ได้อย่างง่ายดายเมื่อเรนเดอร์พื้นหลัง ไม่ว่าจะนำไปใช้กับเลเยอร์หรือใช้เป็นเลเยอร์ก็ตาม
การบีบอัด
ไฟล์ BMP และไฟล์ PNG เป็นไฟล์รูปแบบไม่สูญเสียข้อมูลทั้งคู่ ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่บีบอัดแล้ว คุณสามารถกู้คืนไฟล์ทั้งสองประเภทให้มีคุณภาพสูงสุดเหมือนเดิมได้
BMP ใช้อัลกอริธึมที่เรียบง่ายในการบีบอัดรูปภาพให้เล็กลงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนไฟล์ PNG นั้นจะบีบอัดไฟล์ให้มีขนาดเล็กลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งคุณยังสามารถบีบอัดได้หลายครั้งอีกด้วย
คุณภาพ
ไฟล์ BMP มีคุณภาพสูงกว่าเล็กน้อยเนื่องด้วยวิธีจัดการพิกเซลและรูปแบบ RAW ของไฟล์ประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม คุณภาพของไฟล์ BMP กับไฟล์ PNG นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
การพิมพ์
ไฟล์ BMP และ PNG ต่างไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับการพิมพ์เนื่องจากไฟล์ทั้งสองประเภทมีข้อจำกัดในด้านการพิมพ์ด้วยกระดาษและหมึกจริง โดยไฟล์ทั้งสองประเภทนี้ีมีปัญหากับสเกลสี CMYK (สีเขียวแกมน้ำเงิน สีม่วงแดง สีเหลือง สีหลัก/ดำ) เป็นพิเศษ