คู่มือถ่ายภาพแสงสำหรับมือใหม่
ค้นพบกลเม็ดและเคล็ดลับชั้นยอดในการถ่ายภาพแสงพร้อมคำแนะนำที่ใช้ได้จริงจากช่างภาพมืออาชีพ ที่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพแสงได้ทุกประเภท
แสงคือกุญแจสำคัญในการถ่ายภาพ
มีหลายปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงการถ่ายภาพ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือแสง แสงกำหนดความสว่างหรือความมืดของรูปภาพคุณ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกโดยรวม และบรรยากาศทั้งหมดในภาพถ่ายอีกด้วย
“ในโลกของการถ่ายภาพ แสงเป็นทุกอย่างจริงๆ” ช่างภาพมืออาชีพทิม นอร์ทตี้กล่าว “การเข้าใจในเรื่องของแสงและทราบว่าจะใช้แสงอย่างไรถือเป็นทักษะพื้นฐานเพื่อให้ถ่ายภาพได้อย่างเชี่ยวชาญ”
การถ่ายภาพแสงประเภทต่างๆ ได้แก่อะไรบ้าง
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพแล้ว แสงจะมีอยู่สองรูปแบบหลัก แสงธรรมชาติจากแหล่งกำเนิดอย่างพระอาทิตย์และแสงประดิษฐ์ซึ่งได้จากการจัดแสงหรืออุปกรณ์ต่างๆ การถ่ายภาพหลายประเภทจะใช้เพียงแสงธรรมชาติเท่านั้น เช่น การถ่ายภาพภูมิทัศน์ แต่ก็มีการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ ที่พึ่งพาแสงประดิษฐ์มากกว่า เช่น การถ่ายภาพในสตูดิโอ
วิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้นคือการเริ่มด้วยแสงธรรมชาติ
แสงธรรมชาติเป็นแสงที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและใช้ได้กับการถ่ายภาพประเภทต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ภาพภูมิทัศน์ไปจนถึงภาพบุคคลและตั้งแต่ภาพสัตว์ป่าไปจนถึงภาพแนวสตรีท
ในตอนกลางวัน คุณจะมีแหล่งกำเนิดแสงขนาดใหญ่หนึ่งแหล่งที่ใช้ได้ นั่นคือพระอาทิตย์ ด้วยขนาดของพระอาทิตย์ ส่งผลให้ปกติแล้วแสงอาทิตย์จะสะท้อนไปมาระหว่างอาคารกับวัตถุอื่นและมักทำให้แสงมีหลายเลเยอร์ ซึ่งช่วยให้แสงธรรมชาติมีลักษณะการเคลื่อนไหวเฉพาะตัวที่แสงประดิษฐ์เลียนแบบได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อใช้แหล่งกำเนิดแสงเพียงแหล่งเดียว
แสงประดิษฐ์ช่วยให้ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของคุณ
มีแหล่งกำเนิดแสงประดิษฐ์มากมายที่สามารถใช้เพื่อให้ฉากสว่างขึ้นและทำให้ควบคุมสภาพแสงได้ โดยแสงประดิษฐ์มักใช้ในการสร้างผลลัพธ์ที่เจาะจงซึ่งเลียนแบบได้ไม่ยาก เป็นผลให้แสงประดิษฐ์เป็นที่นิยมในรูปแบบการถ่ายภาพต่างๆ อย่างการถ่ายภาพหน้าตรงและการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์
การจัดแสงแบบ 3 จุดคืออะไร
คือการจัดแสงที่ทั้งช่างภาพและผู้สร้างภาพยนตร์นิยม เพราะช่วยให้แสงที่ออกมาดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งวัตถุประสงค์ในภาพรวมคือทำให้ตัวแบบโดดเด่นออกมา พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้ฉากดูเรียบเกินไป โดยการใช้แสงทั้งสามแบบนี้ก็เพื่อช่วยสร้างฉากที่ดูมีไดนามิกอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
แบ่งสัดส่วนของแสงของคุณให้เท่ากันด้วยการกระจายแสง
ไม่ว่าจะแบบประดิษฐ์หรือแบบธรรมชาติ แสงต่างก็มีองค์ประกอบหลักคือความตรงและความเข้มของแสง
“แสงที่นุ่มนวลหรือกระจายตัวกว่าอาจจะปรับใช้งานได้ง่ายขึ้นและได้ผลลัพธ์ที่สมดุลมากขึ้น” นอร์ทตี้กล่าว “ด้วยเหตุนี้การใช้แสงแดดสว่างจ้าในช่วงกลางวันแสกๆ อาจเป็นเรื่องท้าทาย ในตอนที่ต้องปรับความต่างของแสง”
มีเทคนิคและอุปกรณ์ประเภทต่างๆ มากมายที่สามารถช่วยกระจายแสงได้ ตัวอย่างก็คือซอฟต์บ็อกซ์ซึ่งมักใช้เพื่อกระจายแสงจากแหล่งกำเนิดแสงประดิษฐ์ที่จ้าเกินไป
“หากทำงานในอาคาร วิธีง่ายๆ ในการกระจายแสงธรรมชาติคือการถ่ายภาพบุคคลข้างหน้าต่าง” นอร์ทตี้กล่าว “ช่องของหน้าต่างจะช่วยกรองแสงและทำให้การจัดแสงของตัวแบบในภาพคุณออกมาดูดี”
เทคนิคการจัดแสงเพื่อถ่ายภาพบุคคลที่รอให้คุณสำรวจ
สำหรับการถ่ายภาพบุคคลนั้น เรามักใช้ทั้งแหล่งกำเนิดแสงแบบธรรมชาติและประดิษฐ์ และหลายครั้งก็เป็นการใช้ร่วมกัน
แม้ว่าจะมีเทคนิคการจัดแสงเพื่อถ่ายภาพบุคคลอยู่จำนวนมาก แต่ตัวเลือกที่ใช้กันบ่อยที่สุดคือการจัดแสงแบบลูปและแบบผีเสื้อ ในการใช้เทคนิคเหล่านี้ ทิศทางของแสงคือกุญแจสำคัญ เพราะทั้งสองเทคนิคนี้ได้ชื่อมาจากรูปทรงของเงาที่เกิดจากจมูกของตัวแบบ
เทคนิคทั้งสองนี้ต่างใช้การวางแสงด้านหน้าหรือเฉียงไปด้านข้างของตัวแบบพอประมาณ จัดให้สูงกว่าดวงตาเล็กน้อย และหันมุมลงในองศาที่ต่างกันไปเพื่อสร้างเงาขนาดเล็ก “คุณสามารถลองปรับเปลี่ยนเทคนิคนี้ได้ด้วยการขยับแสงเข้ามาใกล้หรือห่างออกไป และการปรับมุม” นอร์ทตี้กล่าว
เทคนิคเหล่านี้ยังใช้เพื่อให้เข้าใจแสงธรรมชาติได้อีกด้วย บ่อยครั้งที่ภาพถ่ายบุคคลจะถ่ายเมื่อตำแหน่งของพระอาทิตย์บนท้องฟ้าเคลื่อนต่ำลงมาเล็กน้อย ซึ่งทำให้แสงของพระอาทิตย์อยู่ในมุมที่เหนือกว่าดวงตาของตัวแบบ ช่วงเวลานี้ในตอนกลางวันอาจทำงานได้ง่ายขึ้นเล็กน้อย เพราะแสงจะนุ่มนวลและสมดุลกว่า
คำแนะนำในการเริ่มต้น
ไม่ว่าจะใช้แสงประเภทไหน ก็จะมีปัจจัยสำคัญสองสามปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเสมอ ซึ่งประกอบด้วยความเข้ม ทิศทาง และแม้แต่สมดุลสีของแหล่งกำเนิดแสงอีกด้วย
“ถึงแม้วิธีใช้แสงจะไม่มีผิดไม่มีถูก แต่คุณจะพบเองว่าวิธีไหนที่เหมาะและไม่เหมาะสำหรับสไตล์การถ่ายภาพของคุณ ฉะนั้น การทดลองคือกุญแจสำคัญที่แท้จริง” นอร์ทตี้กล่าว
วิธีที่เข้าถึงได้และง่ายที่สุดในการเริ่มต้นคือการทดลองกับแสงธรรมชาติ แต่ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพประเภทไหน แสงแดดจ้าในช่วงกลางวันแสกๆ ก็มักเป็นแสงที่ใช้ยากที่สุด
ลองตั้งเป้าที่จะออกไปข้างนอกในช่วงเช้าตรู่หรือพลบค่ำดู “ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อย่ากลัวที่จะสำรวจสภาพแสงให้ครบทุกประเภทเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจวิธีที่แสงทำงานอย่างถ่องแท้” นอร์ทตี้กล่าว
อย่าลืมว่าต้องคำนึงถึงทิศทางของแสงเสมอ ในตอนที่ตำแหน่งของพระอาทิตย์บนท้องฟ้าเคลื่อนต่ำลงมาเล็กน้อย ให้ทดลองด้วยการถ่ายภาพโดยมีพระอาทิตย์อยู่ข้างหลังคุณ วิธีนี้จะให้แสงสว่างเกือบทุกส่วนของฉาก ทำให้ฉากสว่างและชัดเจน โดยเมื่อพระอาทิตย์ขยับไปด้านข้างเล็กน้อย จะเพิ่มมิติหรือความต่างของแสงให้มากขึ้นด้วยการทำให้เกิดเงาและจุดไฮไลต์ขึ้นเล็กน้อย ถ้าต้องการเล่นกับเงาและภาพเงา ให้ถ่ายโดยหันไปทางพระอาทิตย์มากขึ้น
หากต้องการแสงที่กระจายยิ่งขึ้น ให้ทดลองในตอนที่สภาพอากาศมีเมฆมาก ซึ่งทิศทางอาจจะสำคัญน้อยลง แต่จะทำให้ภาพถ่ายของคุณมีบรรยากาศโทนอึมครึมด้วยสีที่หม่นหมอง สรุปแล้วคือให้คำนึงถึงลักษณะภาพที่คุณต้องการ และจะใช้สภาพแสงด้วยวิธีใดเพื่อช่วยในเรื่องนี้
การทดลองกับแสงประดิษฐ์ในแบบเดียวกันเป็นเรื่องง่าย ซึ่งสามารถทำได้ที่บ้านด้วยการถ่ายภาพตนเองโดยใช้แสงประดิษฐ์หนึ่งแหล่งและการตั้งเวลาถ่ายภาพ เริ่มโดยให้แสงอยู่ด้านหน้าของคุณ เหนือระดับสายตาเล็กน้อย จากนั้นลองขยับแสงไปรอบๆ ปรับมุมและความเข้มของแสงด้วยการขยับให้ใกล้หรือไกลกว่าเดิม แล้วดูว่าแสงจะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์อย่างไร
การตั้งค่าเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพแสง
เมื่อพูดถึงความเข้าใจในวิธีที่แสงเปลี่ยนผลลัพธ์ของภาพถ่าย หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรคำนึงถึงคือการตั้งค่ากล้อง “หากคุณยังไม่คุ้นชินกับกฎสามเหลี่ยมการเปิดรับแสงก็เริ่มทําความเข้าใจจากตรงนี้ได้เลย” นอร์ทตี้กล่าว
กฎสามเหลี่ยมการเปิดรับแสงจะอธิบายถึงการตั้งค่ากล้องหลักๆ 3 ประการซึ่งควบคุมปริมาณแสงที่เข้าไปยังกล้องของคุณ ได้แก่ รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO
ลองนึกถึงฉากที่สว่างมากอย่างการถ่ายถาพกลางแจ้งในวันที่แดดจ้า ในกรณีนี้ คุณสามารถเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ได้ ซึ่งมักจะอยู่ระหว่าง 1/200 ถึง 1/4000 และใช้ค่า ISO ที่น้อยลง ซึ่งโดยปกติจะเป็น ISO 100 และจะทำให้แน่ใจได้ว่าภาพถ่ายของคุณไม่ได้รับแสงหรือสว่างมากเกินไป เมื่อพูดถึงรูรับแสง คุณควรใช้รูรับแสงที่แคบลงหรือค่าเอฟที่มากขึ้น
ในตอนกลางคืน ให้ตั้งค่าแบบตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่คุณจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง เช่น 1/100 หรืออาจต้องช้ากว่านี้หากต้องการถ่ายภาพให้มีการเบลอจากการเคลื่อนไหว และใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้น เช่น f/2.8 อีกทั้งค่า ISO ที่มากขึ้นอย่าง ISO 800 เพื่อให้ฉากโดยรวมสว่างขึ้น การถ่ายภาพในตอนกลางคืนมีความยากในตัวเอง แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทดลองวิธีอื่นโดยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ลดลง
อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพแสง
หนึ่งในสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับการเริ่มใช้อุปกรณ์จัดแสงก็คือตัวเลือกและประเภทของอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้อย่างมากมาย
การถ่ายภาพโดยใช้แฟลช
แสงที่ใช้บ่อยที่สุดในการถ่ายภาพคือแฟลช ซึ่งขาดไม่ได้ในการถ่ายภาพกิจกรรม เมื่อใช้แฟลช ให้คำนึงเสมอว่าแฟลชอาจมีความสว่างหรือมีทิศทางที่ตรงมาก ฉะนั้นการกระจายแสงจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้แสงกระจาย คุณสามารถติดอุปกรณ์กระจายแสงเพิ่มที่แฟลชของคุณได้ หากถ่ายในอาคารที่เพดานต่ำ การเล็งแฟลชขึ้นเล็กน้อยให้สะท้อนกับเพดานก็เป็นวิธีกระจายแฟลชให้เท่ากันที่ดีเช่นกัน
การถ่ายภาพโดยใช้กล่องไฟ
กล่องไฟเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ กล่องไฟมีพื้นหลังสีขาว ช่องเปิดด้านหน้า และแหล่งกำเนิดแสง เมื่อวางผลิตภัณฑ์ลงในกล่อง แสงจะสะท้อนไปมาทุกทิศทาง จึงช่วยกำจัดเงาและแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะใช้งานง่ายและเหมาะกับการถ่ายภาพทุกระดับทักษะ แต่การใช้กล่องไฟในการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ก็หมายความว่ากล่องไฟมีการใช้งานที่เฉพาะทางมากๆ
การถ่ายภาพโดยใช้ไฟวงแหวน
ไฟวงแหวนอาจเรียกได้ว่าเป็นแสงที่ดีที่สุดสำหรับช่างภาพมือใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะมีราคาที่สบายกระเป๋าและใช้งานง่าย โดยมีลักษณะตามชื่อ แสงจะมีเป็นวงกลมซึ่งช่วยให้ไฟวงแหวนเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีความกระจายแสงสูงมาก ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างซอฟต์บ็อกซ์ แสงเหล่านี้ใช้ได้ทั้งกับการถ่ายภาพมาโคร ภาพหน้าตรง ภาพงานแต่งงาน หรือแม้แต่ใช้เป็นอุปกรณ์ถ่ายทำคลิป YouTube สำหรับมือใหม่
การถ่ายภาพโดยใช้ไฟ LED
LED เป็นนิยามกว้างๆ สำหรับแสงไฟหลายประเภทที่ใช้ในการถ่ายภาพ ไฟ LED เหมาะกับระดับทักษะและงบประมาณที่หลากหลาย โดยไฟ LED สามารถเป็นตัวเลือกสำหรับการพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกสีมากมาย ทำให้เป็นตัวเลือกที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายและเหมาะกับการลองทำอะไรสร้างสรรค์อย่างการเพิ่มสีเข้าไปในฉาก
สุดยอดเคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพแสง
เมื่อกำลังทำความเข้าใจกับแสงในการถ่ายภาพ คำแนะนำที่ดีที่สุดคืออย่าลืมว่าแสงจะดึงดูดดวงตาของเราโดยธรรมชาติ “โดยปกติแล้วเมื่อเรามองภาพถ่าย ดวงตาของเรามักจะถูกดึงความสนใจไปยังส่วนที่สว่างที่สุดของภาพ” นอร์ทตี้กล่าว “การตระหนักถึงเรื่องนี้ถือว่าสำคัญ เพราะเราสามารถใช้เรื่องนี้เป็นข้อได้เปรียบในตอนที่สร้างภาพถ่ายได้จริง”
ให้คำนึงถึงเรื่องนี้เสมอเมื่อจะตัดสินใจว่าจะจัดตัวแบบด้วยวิธีใด โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพผู้คน
“ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของผมในตอนที่เริ่มถ่ายภาพบุคคลกลางแจ้งใหม่ๆ คือบ่อยครั้งที่ผมถ่ายไปทางพระอาทิตย์ตรงๆ” การถ่ายไปทางพระอาทิตย์ตรงๆ นั้นปกติจะทำในการถ่ายภาพภูมิทัศน์ เพราะจะถ่ายในตำแหน่งที่ท้องฟ้าแจ่มใสและสีสันสวยงาม แต่เมื่อวางตำแหน่งของตัวแบบให้อยู่ระหว่างตัวคุณเองและดวงอาทิตย์ สุดท้ายแล้วภาพก็จะย้อนแสง
“คุณจำเป็นต้องให้แสงกระทบที่หน้าของตัวแบบในลักษณะที่เป็นการดึงดูดความสนใจมาที่นั่น” นอร์ทตี้กล่าว “กระบวนการคิดที่เรียบง่ายนี้ใช้ได้กับการถ่ายภาพทุกประเภท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแสงกำลังดึงดูดความสนใจมายังตัวแบบอย่างเหมาะสม”
ถ้าจะให้ลึกไปอีกขั้น การถ่ายภาพตอนกลางคืนก็ถือเป็นอีกวิธีที่ใช้ทดลองแสงได้ดีเช่นกัน “การถ่ายภาพกลางคืนเป็นการเปิดโลกของการเล่นกับแสงอีกใบหนึ่ง” นอร์ทตี้กล่าว
คุณสามารถลองลดความเร็วชัตเตอร์ลงเพื่อสังเกตว่าแสงเคลื่อนที่ผ่านเฟรมแบบไหนจึงทำให้เกิดเส้นแสงขึ้น หรือการขยับกล้องเพื่อตามจับภาพวัตถุด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ก็อาจทำให้พบวิธีใหม่ๆ ในการสนุกไปกับการถ่ายภาพอย่างการถ่ายภาพด้วยการแพนกล้องเป็นต้น
การปรับแสงใน Lightroom
การใช้แสงให้เป็นประโยชน์ไม่ได้จบเมื่อคุณถ่ายภาพของคุณเสร็จเท่านั้น เมื่อแก้ไขภาพใน Adobe Photoshop Lightroom คุณจะยกระดับการจัดแสงขึ้นได้อีกขั้น โดยปรับแต่งสิ่งต่างๆที่คุณเองอาจยังทําได้ไม่ดีพอในตอนถ่ายภาพ
ใน Lightroom คุณสามารถปรับการจัดแสงโดยรวมได้ด้วยการปรับแต่งเบื้องต้น หรือแก้ไขแบบเหนือขั้นอีกด้วยการปรับสมดุลแสงโดยรวม ด้วยเครื่องมือมาสก์ที่มีให้เลือกมากมาย เครื่องมือพวกนี้ช่วยให้คุณปรับแสงในแต่ละส่วนของภาพโดยตรงแบบเฉพาะจุดและไม่กระทบกับส่วนอื่นได้
การฝึกฝนคือกุญแจที่สำคัญที่สุดเพื่อให้ใช้แสงได้อย่างเชี่ยวชาญ
การทำความเข้าใจว่าแสงทำงานอย่างไรและส่งผลต่อการถ่ายภาพอย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเป็นประจำเท่านั้นจึงจะเชี่ยวชาญได้ไม่ต่างจากทักษะอื่นๆ “ดังนั้นออกไปข้างนอกแล้วลองเทคนิคการถ่ายภาพหลายๆ แบบในสภาพแวดล้อมและสภาพแสงต่างๆ” นอร์ทตี้กล่าว ซึ่งเรื่องนี้คือกุญแจที่จะทำให้เข้าใจความสำคัญของแสงที่มีต่อการถ่ายภาพ และวิธีใช้แสงให้เกิดประโยชน์เมื่อหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพในครั้งหน้า
หากต้องการถ่ายภาพแสงให้เชี่ยวชาญ คุณต้องเข้าใจ ISO, รูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ รวมถึงการตั้งค่ากล้องตามกฎสามเหลี่ยมการเปิดรับแสง และเมื่อไหร่ที่คุณต้องการทบทวนหรือเพิ่มความรู้ ให้อ่านหัวข้อเหล่านี้เพิ่มเติมและยกระดับการถ่ายภาพของคุณ
ไปที่หน้าการถ่ายภาพแสงของเรา เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้ Adobe Photoshop Lightroom ยกระดับการถ่ายภาพของคุณไปอีกขั้น