กลับสู่ระบบอนาล็อกด้วยกับการถ่ายภาพฟิล์ม
สำรวจรากฐานของการถ่ายภาพอนาล็อกและดูว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มนั้นซับซ้อนแต่ก็มีคุณค่าอย่างไร รวมถึงวิธีล้างรูปถ่ายและอัดภาพของคุณออกมา
จับภาพช่วงเวลาตรงหน้า
ก่อนที่การถ่ายภาพดิจิทัลจะถือกำเนิดขึ้น ภาพถ่ายทั้งหมดล้วนมาจากม้วนฟิล์มที่ไวต่อแสง จากนั้นช่างถ่ายภาพฟิล์มจะล้างฟิล์มและอัดรูปในห้องมืด ซึ่งเป็นขั้นตอนทางกายภาพที่ทำให้ช่างภาพได้กลายเป็นหนึ่งในกระบวนการโดยมีการถ่ายภาพเป็นสื่อกลาง คุณจะสามารถควบคุมการเปิดรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ของภาพได้อย่างเต็มที่ในการถ่ายภาพฟิล์ม และความสามารถในการพิมพ์และขยายภาพก็ช่วยให้ศิลปินเข้าใจขั้นตอนในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าฟิล์มจะเป็นหนทางที่ยอดเยี่ยมในการสำรวจรายละเอียดต่างๆ ของการถ่ายภาพ แต่การถ่ายภาพประเภทนี้ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกหลายครั้ง “คุณสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วมากผ่านการถ่ายภาพดิจิทัล แต่กับการถ่ายภาพฟิล์ม คุณอาจถ่ายภาพโดยไม่รู้ว่าใช้การตั้งค่าแบบไหนไป คุณอาจถ่ายภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่คุณจะไม่รู้ว่าตัวเองถ่ายแบบนั้นมาได้ยังไง เมื่อใช้กล้องดิจิทัล คุณจะสามารถกลับไปดูข้อมูลเมตาและดูว่าใช้ค่า F-Stop และความเร็วชัตเตอร์แบบไหนไปได้” ช่างภาพ Ryan Mills อธิบาย
ใช้เครื่องมือถ่ายภาพของคุณให้เชี่ยวชาญ
กล้องฟิล์ม
ม้วนฟิล์มที่ไวต่อแสงจะประกอบอยู่ในตัวกล้องระหว่างการถ่ายภาพฟิล์ม เมื่อชัตเตอร์ของกล้องเปิดออก ฟิล์มจะโดนแสงและทำการจับภาพไว้ หลังจากเปิดรับแสงแล้ว ช่างภาพจะหมุนฟิล์มไปข้างหน้าเพื่อให้ฟิล์มส่วนใหม่ที่ยังไม่โดนแสงพร้อมสำหรับการถ่ายภาพถัดไป กล้องแมนนวลบางตัวสามารถหมุนฟิล์มย้อนกลับแล้วถ่ายทับแผ่นฟิล์มเดิมหลายๆ ครั้งเพื่อสร้างภาพ Double Exposure ได้ เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มครบทั้งม้วนแล้วก็ถอดฟิล์มออกจากกล้องแล้วนำไปล้าง
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักเกี่ยวกับกล้องดิจิทัลคือยี่ห้อของกล้อง อย่างเช่น Nikon หรือ Canon ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้สำคัญมากนัก ภาพของคุณจะออกมาเหมือนๆ กัน แล้วพอถึงตอนที่ผู้คนเริ่มแต่งภาพก็บอกยากแล้วว่าภาพนี้มาจากกล้องตัวไหน” Mills อธิบาย “แต่กับการถ่ายภาพฟิล์มนั้น กล้องกับฟิล์มแต่ละตัวให้ภาพที่แตกต่างกัน และทุกตัวก็ทำงานต่างกันไปเล็กน้อยด้วย”
ช่างภาพหลายคนใช้กล้อง Single Lens Reflex (SLR) ในการถ่ายภาพฟิล์ม ซึ่งใช้กระจกและปริซึมในการสร้างการเปิดรับแสง การทำงานภายในของกล้องเหล่านี้ช่วยให้ช่างภาพสามารถมองผ่านช่องมองภาพและเลนส์เพื่อดูว่าในเฟรมจะถ่ายภาพอะไรได้บ้าง กล้อง SLR มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งกล้อง 35 มม. กล้องขนาดกลาง และกล้องขนาดใหญ่ ขนาดต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อขนาดของแผ่นฟิล์มที่สามารถบรรจุเข้าไปในตัวกล้อง และยิ่งฟิล์มเนกาทีฟใหญ่มากแค่ไหน ภาพที่คุณถ่ายได้ก็จะมีความละเอียดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับกล้องขนาดเล็กอย่าง 35 มม. ภาพที่อัดออกมาจะมีเกรนของฟิล์มปรากฏให้เห็นชัดกว่า
ช่างภาพ Dillon Jenkins อธิบายว่า “คุณสามารถซื้อกล้องอนาล็อกได้ในราคาที่ค่อนข้างถูก แต่การถ่ายภาพฟิล์มจริงๆ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า” กล้องดิจิทัลนั้นราคาแพงกว่าในตอนแรกซื้อแต่จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ตามมาสำหรับทุกๆ ภาพที่คุณถ่าย ทั้งนี้อย่าลืมว่าคุณไม่สามารถใช้ฟิล์ม 35 มม. กับกล้องขนาดกลางได้ ดังนั้นก่อนซื้อฟิล์มหรือกล้อง ให้พิจารณาประเภทของภาพถ่ายที่คุณต้องการสร้างสรรค์ขึ้นมาก่อนลงทุนซื้ออุปกรณ์
ฟิล์มถ่ายภาพ
คุณมีตัวเลือกจำนวนหนึ่งให้พิจารณาในแง่ของฟิล์ม “ทุกวันนี้คุณสามารถหาซื้อฟิล์ม 35 มม. และฟิล์มขนาดกลาง 120 ได้ทั่วไป คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับขนาด 120 และ 220 มาบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้วก็เป็นฟิล์มขนาดกลางเหมือนกัน แต่ความยาวต่างกัน” Mills อธิบาย คุณสามารถใช้ม้วนฟิล์มที่ยาวกว่าเพื่อถ่ายภาพได้มากขึ้นก่อนจะต้องเปลี่ยนม้วนใหม่ โดย Mills ระบุว่า “คุณอาจถ่ายได้ 10 ถึง 12 ภาพด้วยฟิล์ม 120 และถ่ายได้ 22 ถึง 24 ภาพด้วยฟิล์ม 220”
กล้องฟิล์มสามารถถ่ายได้ทั้งภาพขาวดำและภาพสี ฟิล์มขาวดำนั้นสามารถล้างเองได้ง่ายกว่าเล็กน้อย แต่ฟิล์มสีจะเปิดโอกาสให้คุณได้ทดลองเล่นกับทินต์และเฉดสี ฟิล์มยี่ห้อต่างๆ อย่าง Fujifilm และ Kodak ยังอาจส่งผลให้ภาพมีความเข้มของสีหรือ Contrast ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ลองใช้ฟิล์มจากแบรนด์ต่างๆ สักสองสามแบรนด์แล้วดูว่าแบรนด์ไหนตอบโจทย์ความต้องการทางศิลปะของคุณมากที่สุด
นอกจากสีของฟิล์มแล้ว คุณยังสามารถเลือกได้ระหว่างฟิล์มโพสิทีฟกับฟิล์มเนกาทีฟ ฟิล์มเนกาทีฟจะถ่ายภาพจับภาพในสีขั้วตรงข้ามกับภาพจริง ซึ่งช่วยให้สามารถอัดภาพในห้องมืดได้ง่ายขึ้น ฟิล์มโพสิทีฟจะสร้างภาพโพสิทีฟบนแผ่นโปร่งใส โดย Jenkins อธิบายว่า “หนึ่งในความแตกต่างหลักๆ ระหว่างสีเนกาทีฟกับสีโพสิทีฟคือละติจูดการเปิดรับแสง ซึ่งเป็นช่วงการรับแสงของฟิล์ม” จึงควรคำนึงไว้เสมอว่าฟิล์มแต่ละประเภทมีพารามิเตอร์และข้อควรพิจารณาที่แตกต่างกันไป
- ฟิล์มสีโพสิทีฟมีสีสันและความเข้มของสีมากกว่า ฟิล์มสีโพสิทีฟมักจะใช้กับกล้องวิดีโออนาล็อกเนื่องจากฉายภาพได้ง่ายกว่า
- ฟิล์มสีเนกาทีฟมีความยืดหยุ่น แต่สีอาจเปลี่ยนไปโดยไม่ได้เจตนาหากคุณตั้งค่ากล้องฟิล์มสูงหรือต่ำเกินไป
- ฟิล์มขาวดำนั้นราคาถูกกว่าฟิล์มสี อีกทั้งยังเป็นฟิล์มที่ใช้ง่ายที่สุดและคุณสามารถล้างฟิล์มนี้ได้เองที่บ้าน
อย่าลืมว่าฟิล์มยังคงไวต่อแสงอยู่หากยังไม่ได้ล้างฟิล์ม ผู้ล้างฟิล์มจึงต้องระมัดระวังในขณะดำเนินการเพื่อจำกัดความเสี่ยงที่แสงจะรั่วหรือส่องแสงโดนฟิล์มมากเกินไป
วิธีถ่ายภาพด้วยฟิล์ม
ทำความเข้าใจการตั้งค่ากล้อง
สามปัจจัยในการเปิดรับแสงหรือ Exposure Triangle ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการถ่ายภาพฟิล์ม “ผมแนะนำให้เริ่มจากการถ่ายภาพดิจิทัลก่อน เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการพื้นฐานอย่างถ่องแท้ เพราะคุณจะต้องถ่ายภาพทั้งหมดแบบแมนนวลเมื่อใช้ฟิล์ม” Mills อธิบาย คุณต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และค่า ISO จะส่งผลต่อภาพถ่ายของคุณอย่างไรเนื่องจากคุณต้องตั้งค่าทุกอย่างแบบแมนนวล และสำหรับกล้องฟิล์ม ค่า ISO หรือความไวแสงนั้นขึ้นจะอยู่กับแผ่นฟิล์มของคุณ
วางแผนการถ่ายภาพล่วงหน้า
ในการถ่ายภาพฟิล์ม คุณสามารถถ่ายภาพได้ในจำนวนครั้งที่จำกัด หากคุณต้องการถ่ายภาพภูมิทัศน์ คุณย่อมไม่อยากให้ฟิล์มหมดก่อนไปถึงจุดชมวิว ดังนั้นจึงควรพกฟิล์มติดตัวไปเผื่อสักสองสามม้วนด้วย การจดข้อความหรือบันทึกการตั้งค่ากล้องที่คุณใช้ตอนถ่ายภาพฟิล์มไว้ก็เป็นประโยชน์เช่นกัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณเห็นได้ว่าคุณทำอะไรถูกและพลาดไปตรงไหนเมื่อคุณกลับมาดูภาพหลังจากที่ล้างฟิล์มแล้ว
“ทำใจไว้ได้เลยว่าคุณจะทำอะไรผิดพลาดไปหลายอย่างในการถ่ายภาพอนาล็อก และในบางกรณี คุณก็จะชอบผลลัพธ์จากข้อผิดพลาดของคุณ ฉันคิดว่าการทำความเข้าใจว่าข้อผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไรทำให้คุณเห็นคุณค่าได้มากขึ้น” Jenkins อธิบาย “ตัวอย่างเช่น มีครั้งหนึ่งที่กล้องของฉันพัง แต่ยังคงใช้งานได้อยู่ ฉันเลยถ่ายภาพฟิล์มไปม้วนหนึ่ง แต่กล้องยังคงถ่ายภาพต่อไปอีกประมาณ 40 ครั้งซึ่งแปลกมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแกนฟิล์มพัง ฉันเลยถ่ายภาพบนฟิล์มแผ่นเดิมมาตลอดสองเดือน ซึ่งทำให้มีประมาณ 30 ภาพในเฟรมเดียว” ข้อผิดพลาดแปลกๆ จะเกิดขึ้นกับการถ่ายภาพฟิล์ม แต่ช่วงเวลาแห่งความผิดพลาดเหล่านั้นสามารถเอื้อให้คุณสร้างภาพที่ไม่เหมือนใครและเหนือความคาดหมายอย่างแท้จริงได้
วิธีการล้างฟิล์ม
เมื่อถ่ายภาพหมดม้วนแล้ว ฟิล์มต้องผ่านการล้าง วิธีหนึ่งคือการส่งม้วนฟิล์มให้แก่ช่างล้างฟิล์ม ในอดีตเคยมีบริษัทรับล้างฟิล์มอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อการถ่ายภาพดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น การล้างฟิล์มจึงกลายเป็นทักษะเฉพาะทางเสียมากกว่า หากเลือกส่งฟิล์มให้ช่างล้างฟิล์มดำเนินการ คุณมักจะสามารถเลือกได้ว่าคุณต้องการภาพถ่ายของคุณในรูปแบบใด โดยคุณสามารถรับแค่ฟิล์มที่ล้างแล้ว ภาพขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่อัดออกมา หรือไฟล์ภาพดิจิทัลของภาพฟิล์ม วิธีสุดท้ายช่วยคุณประหยัดเวลาได้ อีกทั้งยังให้คุณได้ภาพถ่ายคุณภาพสูงสุดเพื่อนำไปแต่งในรูปแบบดิจิทัล
สร้างห้องมืด
อีกทางหนึ่งสำหรับไว้พิจารณาคือการล้างฟิล์มเองที่บ้าน สำหรับฟิล์มบางประเภท คุณสามารถสั่งซื้ออุปกรณ์ล้างฟิล์มพร้อมสารเคมีที่เหมาะสมได้ หรือหากคุณมีห้องใต้ดินมืดๆ หรือห้องที่ไม่มีหน้าต่าง คุณก็สามารถสร้างห้องมืดที่บ้านได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีความยืดหยุ่นในการล้างฟิล์มและอัดภาพของคุณเองได้ ทั้งนี้อย่าลืมว่าฟิล์มขาวดำเป็นฟิล์มที่ล้างและอัดเองที่บ้านได้ง่ายที่สุด รวมทั้งใช้สารเคมีน้อยกว่า
หากต้องการสร้างห้องมืดภายในบ้าน คุณต้องมีพื้นที่มืด ไฟเซฟไลท์ และสารเคมีที่เหมาะสม น้ำกลั่น น้ำยาสร้างภาพ น้ำยาคงสภาพ ถาด และถุงมือ โดยคุณสามารถซื้อสารเคมีและน้ำยาสร้างภาพได้ที่ร้านเครื่องมือถ่ายภาพเฉพาะทางหรือทางออนไลน์ ในการล้างฟิล์ม คุณต้องบรรจุฟิล์มไว้ในแทงก์ล้างฟิล์ม ผสมสารเคมี เทน้ำยาสร้างภาพลงไป ล้างน้ำ แล้วจึงนำเนกาทีฟไปตากให้แห้ง
พิมพ์ภาพถ่ายของคุณ
เมื่อเนกาทีฟแห้งแล้ว คุณก็สามารถพิมพ์ภาพถ่ายได้ ใช้เครื่องอัดขยายภาพในการฉายฟิล์มเนกาทีฟลงบนแผ่นกระดาษที่ไวต่อแสง ลองทำแถบทดสอบ แล้วอัดรูปโดยการเปิดไฟภายในเครื่องอัดขยายภาพตามระยะเวลาวินาทีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เตรียมถาดน้ำยาสี่ถาด แล้วเติมน้ำยาสร้างภาพ น้ำยาคงสภาพ น้ำยาหยุดภาพ และน้ำสะอาดลงในแต่ละถาด หลังจากฉายแสงลงกระดาษแล้ว ให้นำกระดาษไปวางในถาดน้ำยาสร้างภาพ ระหว่างที่กระดาษแช่อยู่ในน้ำยาสร้างภาพ คุณจะเห็นความต่างระดับสีและเงาเริ่มปรากฎขึ้น จากนั้นให้นำกระดาษไปแช่น้ำยาคงสภาพ ตามด้วยน้ำยาหยุดภาพ แล้วจึงล้างออกในถาดใส่น้ำสะอาด โปรดทราบว่ายี่ห้อของกระดาษและสารเคมีนั้นจะส่งผลต่อเวลาที่ใช้ในการแช่รูปในน้ำยาแต่ละตัว หลังจากนั้น คุณสามารถแขวนรูปทิ้งไว้ให้แห้ง นำไปใส่กรอบ และชื่นชมภาพได้เลย
ใช้เครื่องมือดิจิทัลปรับแต่งภาพ
ขั้นตอนการลงมือล้างฟิล์มเองอาจสนุกและคุ้มค่า แต่หากคุณต้องการสร้างรูปลักษณ์ทางศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะ คุณอาจต้องทดสอบอยู่หลายครั้งกว่าจะสร้างสรรค์ออกมาได้สำเร็จ อีกหนึ่งวิธีในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่สมบูรณ์แบบคือการเปลี่ยนภาพฟิล์มเป็นภาพดิจิทัล ใช้กล้อง DSLR เครื่องแสกน หรือ Smartphone ของคุณในการสร้างภาพคุณภาพสูงจากฟิล์มเนกาทีฟหรือรูปอัด จากนั้นคุณสามารถใช้ Adobe Photoshop Lightroom ในการแต่งและปรับให้ภาพออกมาตามที่ต้องการได้ หากคุณไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองดูบทช่วยสอนเหล่านี้
- ใช้ Adjustment Brush ในการ Dodge และ Burn ภาพเพื่อปรับการเปิดรับแสงและ Contrast ในบางจุดของภาพ ซึ่งคล้ายกับกลวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในห้องมืด
- ลบวัตถุที่เบนสายตาออกจากพื้นหลังในภาพของคุณด้วยขั้นตอนง่ายๆ เหล่านี้
- ใช้เครื่องมือแก้ไขเฉพาะส่วนใน Lightroom เช่น เครื่องมือ Brush หรือ Radial Gradient ในการแก้ไขบางส่วนของภาพของคุณ
- เรียนรู้วิธีตัดต่อฝุ่นหรือรอยออกจากภาพใน Adobe Photoshop
การถ่ายภาพฟิล์มต้องใช้เวลาและความอดทน แต่การถ่ายภาพฟิล์มนั้นสามารถช่วยให้คุณดื่มด่ำกับภาพและเข้าใจการถ่ายภาพในมุมใหม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หรือช่างภาพมืออาชีพ การถ่ายภาพอนาล็อกจะบีบให้คุณฝึกฝนด้าน Exposure Triangle ตลอดจนการตั้งค่ากล้อง และวิสัยทัศน์การสร้างสรรค์ของคุณจนเชี่ยวชาญ หากคุณยังไม่พร้อมลงทุนกับห้องมืดหรือกล้อง SLR ลองพิจารณาใช้กล้องโพลารอยด์หรือกล้องฟิล์มอินสแตนท์แทน คุณจะยังคงได้สัมผัสประสบการณ์การลงมือถ่ายภาพฟิล์มด้วยตัวเองแต่ในลักษณะที่ใช้งานง่ายกว่า
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom
แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์
และคุณอาจสนใจ...
ค้นหาสัจธรรมของคุณในการถ่ายภาพวิจิตรศิลป์
ทำตามความชอบของคุณและสำรวจเลเยอร์ทางแนวคิดในการสร้างภาพถ่ายเชิงศิลปะ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพขาวดำ
เรียนรู้การใช้ภาพถ่ายขาวดำเพื่อฝึกฝนทักษะการถ่ายภาพและถ่ายภาพได้สมบูรณ์แบบ
โลกของการถ่ายภาพ Double Exposure
สำรวจการถ่ายภาพ Double Exposure และเรียนรู้วิธีสร้างภาพถ่ายด้วยตัวคุณเอง
พัฒนาทักษะการจัดองค์ประกอบภาพของคุณด้วยการเรียนรู้ศิลปะแห่งการถ่ายภาพนิ่ง