เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพโดยใช้ค่า F-Stop และคุณสมบัติของค่านี้
F-Stop ในการถ่ายภาพจะวัดปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ของคุณและระดับความสว่างของการเปิดรับแสง เรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับรูรับแสงและวิธีเลือกค่า F-Stop ที่เหมาะกับภาพของคุณ
คำอธิบายเกี่ยวกับ F-Stop
F-Stop เป็นคำที่ใช้เพื่อกล่าวถึงการวัดค่ารูรับแสงในกล้องของคุณ รูรับแสงจะควบคุมปริมาณของแสงที่เข้าสู่เลนส์กล้องและมีการวัดค่าอยู่ในรูปแบบของ F-Stop โดยรูรับแสงถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานลำดับที่สามที่ประกอบรวมเป็นสามปัจจัยในการเปิดรับแสงหรือ Exposure Triangle ร่วมกับความเร็วชัตเตอร์และ ISO (ความไวต่อแสง)
การตั้งค่า F-Stop หรือ F-Number ของคุณไม่เพียงจะช่วยให้คุณได้รับการเปิดรับแสงที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณสร้างรูปลักษณ์ของภาพขึ้นมาได้โดยการกำหนดระยะชัดลึก ซึ่งช่างภาพ Nicole Morrison อธิบายว่า “เว้นแต่กรณีที่คุณถ่ายภาพในสภาวะที่แสงจ้าหรือไม่ค่อยมีแสงไปเลย ค่า F-Stop จะช่วยในเรื่องสไตล์และลักษณะของภาพถ่ายที่คุณต้องการมากกว่าเป็นค่าที่จำเป็นต้องปรับ”
รูรับแสงและค่า F-Stop
ตัว “F” ใน F-Stop หมายถึงความยาวโฟกัสของเลนส์ แม้ความยาวโฟกัสจะหมายถึงระยะการมองเห็นของเลนส์ แต่ F-Stop คือปริมาณแสงที่คุณปล่อยให้กระทบกับเซ็นเซอร์ผ่านช่องของรูรับแสง รูรับแสงคือช่องกลางเลนส์ ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นหมุนที่จะเปิดออกเพื่อปล่อยให้แสงผ่านเข้ามาเมื่อคุณกดชัตเตอร์ เส้นผ่านศูนย์กลางของรูรับแสงจะเป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาได้ ดังนั้นจึงเป็นการกำหนดระดับความสว่างของการเปิดรับแสงของคุณไปด้วย
ช่วงของค่า F-Stop ที่คุณสามารถใช้ถ่ายภาพได้นั้นขึ้นอยู่กับเลนส์กล้องของคุณ ค่า F-Stop ที่ต่ำที่สุดที่เลนส์ของคุณใช้ถ่ายภาพได้นั้นเรียกว่าค่ารูรับแสงสูงสุด เลนส์ซูมหลายรุ่นมีขนาดรูรับแสงสูงสุดอยู่ที่ f/2.8 หรือ f/4 และบางรุ่นก็มีช่วงระยะที่แปรผันไปตามปัจจัย เลนส์ Prime หรือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสตายตัวจะสามารถใช้คู่กับรูรับแสงที่กว้างขึ้นไปได้เนื่องจากเลนส์มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยกว่า
ชนิดของเลนส์ที่คุณควรใช้นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของภาพที่คุณถ่าย หากคุณต้องการเลนส์ที่ถ่ายภาพได้ไวในสภาวะแสงน้อยสำหรับการถ่ายภาพดวงดาว คุณก็ควรใช้รูรับแสงที่มีขนาด f/2.8 เป็นอย่างต่ำ แต่หากคุณเป็นช่างภาพภูมิทัศน์ที่ถ่ายภาพในตอนกลางวัน ค่า F-Stop ต่ำๆ ก็อาจไม่สำคัญกับคุณนัก เลนส์ที่ถ่ายภาพได้เร็วกว่าและมีขนาดรูรับแสงที่กว้างกว่ามักจะมีราคาแพงขึ้นไปด้วย ในขณะที่เลนส์ที่ช้าลงมาและมีขนาดรูรับแสงที่เล็กลงนั้นจะมีราคาซึ่งเป็นมิตรต่อเงินในกระเป๋ามากกว่า
วิธีที่ดีที่สุดในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าคือการทราบถึงความต้องการของคุณ เพื่อให้คุณตัดสินใจได้ว่าค่ารูรับแสงสูงสุดกว้างๆ นั้นจำเป็นต่อภาพประเภทที่คุณถ่ายหรือไม่
ระดับรูรับแสงของค่า F-Stop
ค่า F-Stop แสดงในรูปเศษส่วน โดยค่า “F” เป็นเป็นตัวเศษและหมายเลข F-Stop เป็นตัวส่วน ขนาดของรูรับแสงมีความหมายกลับกันกับค่า F-Number ที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ ยิ่งค่า F-Number น้อยเท่าใด รูรับแสงก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น และยิ่งค่า F-Number มากขึ้น ขนาดของรูรับแสงก็จะน้อยลง สงสัยใช่ไหมว่าจะทราบได้อย่างไรว่าคุณควรใช้การตั้งค่ารูรับแสงแบบใด ลองอ่านคู่มือนี้เพื่อทำความคุ้นเคยกับค่ารูรับแสงที่มีการใช้งานบ่อยๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป
f/1.2–f/2.8
รูรับแสงขนาดใหญ่จะปล่อยให้แสงปริมาณมากผ่านเข้ามาได้ จึงมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่มีแสงน้อย อีกทั้งยังมีการใช้ F-Stop ในช่วงค่านี้อยู่บ่อยๆ ในการถ่ายภาพบุคคลเนื่องจากระยะชัดลึกที่ตื้นนั้นช่วยขับให้ตัวแบบโดดเด่น ในขณะที่พื้นหลังเลือนรางลงเป็นเอฟเฟกต์เบลอแบบ Bokeh “ถ้าฉันต้องการถ่ายภาพให้ใครสักคนอยู่ในโฟกัสแล้วให้สิ่งอื่นๆ ทั้งหมดกลืนหายไปกับพื้นหลังนอกโฟกัส ฉันจะใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้น” Morrison เล่า
“ถ้าคุณสนใจใช้ระยะชัดลึกตื้นๆ และเพิ่งเริ่มถ่ายภาพ เลนส์ที่เหมาะสมคือเลนส์ 50 มม.” Morrison แนะนำ “แทบทุกแบรนด์มีเลนส์ 50 มม. ในราคาไม่แพงนัก ซึ่งมีรูรับแสงกว้าง”
ค่ารูรับแสงเหล่านี้เป็นค่าช่วงกลางๆ ที่เหมาะสำหรับสถานการณ์ส่วนมาก คุณจะถ่ายภาพได้ในระยะชัดลึกที่มากขึ้น ดังนั้นตัวแบบจึงจะอยู่ในโฟกัสในระยะที่แตกต่างกันไป ในขณะที่ยังปล่อยให้แสงผ่านเข้ามาในปริมาณที่พอควรและเบลอพื้นหลัง โดย Morrison อธิบายเพิ่มว่า “อีกอย่างที่หลายๆ คนชอบเกี่ยวกับขนาดรูรับแสงที่เล็กลงและระยะชัดลึกที่กว้างขึ้นคือ ภาพที่ถ่ายได้มักจะมีความต่างระดับสีมากกว่า”
f/11–f/32
รูรับแสงขนาดเล็กๆ นั้นเหมาะสำหรับการถ่ายภาพภูมิทัศน์และสถานที่ที่มีแสงเพียงพอ เมื่อถ่ายภาพด้วยค่า f/11 เป็นอย่างน้อย ภาพของคุณจะมีระยะชัดลึกกว้าง โดยที่แทบทุกอย่างในเฟรมของคุณอยู่ในโฟกัส หากคุณมีตัวแบบหลากหลายและอยู่ในระยะที่แตกต่างกันไปจากตัวคุณ ให้เพิ่มค่ารูรับแสงของคุณเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีตัวแบบใดหลุดออกไป โดย Morrison เล่าว่า “ช่างถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ยังใช้ค่า F-Stop ที่สูงขึ้นด้วยเพราะเมื่อคุณถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ คุณย่อมต้องการให้ทุกอย่างอยู่ในโฟกัส”
เลือกรูรับแสงโดยคำนึงถึงสามปัจจัยในการเปิดรับแสง
ระดับค่ารูรับแสงมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสั้นๆ แต่ไม่ใช่ตัวชี้ขาดว่าคุณควรเลือกค่า F-Stop ของคุณอย่างไร ที่จริงแล้วคุณไม่ควรใช้ค่า F-Stop เพียงค่าใดค่าหนึ่งในการถ่ายภาพ ไม่ว่าสถานที่จะเป็นเช่นไร ทุกอย่างต้องอาศัยสมดุลระหว่างความเร็วชัตเตอร์, ISO และรูรับแสง รวมทั้งขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการให้ภาพถ่ายออกมาเป็นอย่างไร
หากคุณถ่ายภาพงานกิจกรรมในที่ร่มในสภาวะแสงน้อย คุณควรลดขนาดของรูรับแสงลง แต่คุณก็อาจไม่ต้องการถ่ายภาพด้วยระยะชัดลึกตื้น หากต้องการถ่ายภาพให้ทุกอย่างอยู่ในโฟกัส คุณสามารถถ่ายภาพโดยใช้แฟลชและกำหนดค่ารูรับแสงไว้ในระดับกลางๆ หรือไม่ก็เพิ่มค่า ISO เพื่อชดเชยแสงที่หายไป นอกจากนี้ คุณยังสามารถชะลอความเร็วชัตเตอร์เพื่อเอื้อให้แสงผ่านเข้ามามากขึ้นได้อีกด้วย
การตั้งค่าเหล่านี้ทั้งหมดจึงช่วยให้คุณมีตัวเลือกมากมายในการตั้งค่ากล้องเพื่อถ่ายภาพ ซึ่งก็เหมือนกับการแก้ไขปริศนาที่มีตัวแปรแตกต่างกันไป และการเรียนรู้วิธีการใช้แสงก็ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกอย่างมาก
ปรับค่า F-Stop ในการตั้งค่ากล้องของคุณ
กล้องฟิล์มและแม้แต่กล้องดิจิทัลบางรุ่นนั้นใช้วงแหวนปรับขนาดรูรับแสงบนตัวเลนส์เพื่อให้คุณหมุนและกำหนดขนาดของรูรับแสง แต่กล้อง DSLR ส่วนมากจะปรับขนาดรูรับแสงผ่านการเลือกบนแป้นหมุนหรือหน้าจอสัมผัส และแม้ว่ากล้องฟิล์มส่วนมากจะสามารถปรับค่าได้ตามค่าที่เป็นเลขจำนวนเต็มเท่านั้น แต่ปัจจุบันแบรนด์กล้อง DSLR ส่วนมากเปิดโอกาสให้คุณเลือกปรับค่าได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
หากคุณยังอยู่ในช่วงทำความคุ้นเคยกับระดับค่า F-Stop โหมดการถ่ายภาพ Aperture Priority ที่มีชื่อย่อว่า Av ก็ถือเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเรียนรู้ว่าสามปัจจัยในการเปิดรับแสงมีการทำงานอย่างไร โหมด Av ช่วยให้คุณสามารถกำหนดค่ารูรับแสงของคุณเอง จากนั้นจึงปรับความเร็วชัตเตอร์และค่า ISO โดยอัตโนมัติเพื่อให้คุณมีการเปิดรับแสงที่เหมาะสม เมื่อคุณเริ่มเชี่ยวชาญในด้านนั้นแล้ว ลองถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวลเพื่อควบคุมขนาดรูรับแสงและการตั้งค่าอื่นๆ ทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ช่วงการเรียนรู้อาจต้องใช้ความพยายามมากกว่า แต่ทุกอย่างจะคุ้มค่าเมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับการตัดสินใจเกี่ยวกับค่าต่างๆ ด้วยตัวเอง
ฝึกสายตาไปทีละภาพ
Morrison แนะนำว่า “รูรับแสงอาจฟังดูน่าสับสน แต่การฝึกฝนจะช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้น” และวิธีที่ดีที่สุดในการทำเช่นนั้นก็คือการทดลองเล่น ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายในการรักษาไว้ซึ่งสมดุลของการตั้งค่าทั้งหมดเอาไว้พร้อมกัน แต่เวลาจะช่วยให้คุณเชี่ยวชาญมากขึ้น และก่อนที่คุณจะรู้ตัว คุณก็สามารถนึกออกได้ในทันควันโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าต้องใช้การตั้งค่าแบบไหนในสภาวะแบบใด
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom
แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์
และคุณอาจสนใจ...
ISO คืออะไร
ค้นพบบทบาทที่หลักสำคัญในสามปัจจัยของการเปิดรับแสงนี้มีต่อการถ่ายภาพ
ค้นพบวิธีเลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่ายแต่ละภาพ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์
ค้นพบว่าการปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ชัดเจนได้หรือจับภาพช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวได้อย่างไร
คุณควรเลือกถ่ายภาพรูปแบบใดระหว่างไฟล์รอว์กับไฟล์ JPEG
เจาะลึกถึงความแตกต่างระหว่างภาพที่ถ่ายในรูปแบบรอว์ และ JPEG