ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระยะชัดลึกที่ตื้น

สำรวจว่าระยะชัดลึกที่ตื้นสามารถเพิ่มขนาดให้กับภาพถ่ายของคุณได้อย่างไร

ภาพระยะชัดลึกที่ตื้นของการชงกาแฟในร้านกาแฟ

การถ่ายภาพที่น่าทึ่งนั้นอยู่ที่การเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวที่ภาพของคุณสื่อออกมา และไม่ว่าจะเป็นหัวข้อของคุณ วิธีการทางศิลปะของคุณ หรือตัวเลือกทางเทคนิค ก็มีวิธีการมากมายที่จะช่วยให้ภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวได้ ระยะชัดลึกที่ตื้น (บางครั้งเรียกว่า DOF ที่ตื้น) ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคดังกล่าว

ระยะชัดลึกที่ตื้นคืออะไร

การถ่ายภาพโดยใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นคือ “การที่ระนาบอยู่ในโฟกัส และที่เหลือทั้งหมดไม่อยู่ในโฟกัสเลย” ช่างภาพผู้มีประสบการณ์ Jeff Carlson อธิบาย เป็นตัวเลือกทางเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลจากรูรับแสงบนเลนส์ของคุณ “ถ้าคุณมีรูรับแสงกว้าง เลนส์ก็จะเปิดรับแสงเข้ามามากขึ้น” Carlson กล่าว “ยิ่งมีแสงเข้ามามากเท่าไร คุณก็จะได้ผลลัพธ์จากระยะชัดลึกที่ตื้นมากขึ้นเท่านั้น”

ภาพถ่ายในชนบทของดอกไม้สีม่วงบนโต๊ะไม้ที่ใช้ระยะชัดลึกที่ตื้น
ภาพการใช้กล้องดิจิตอลเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากในภาพถ่ายระยะชัดลึกที่ตื้น

ระยะชัดลึกที่ตื้นนั้นทำได้โดยการถ่ายภาพด้วยค่า f ที่ต่ำ หรือ f-stop ตั้งแต่ 1.4 ถึงประมาณ 5.6 เพื่อให้แสงเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ระนาบโฟกัสอยู่ระหว่างสองสามนิ้วจนถึงสองสามฟุต คุณสามารถเบลอฉากหน้าหรือฉากหลังของภาพได้โดยขึ้นอยู่กับวัตถุและขอบเขตของจุดโฟกัสของคุณ การใช้ค่า f-stop ที่น้อยลง คือให้รูรับแสงกว้างขึ้นนั้น ทำให้แสงเข้าสู่กล้องของคุณได้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าความเร็วชัตเตอร์ของคุณควรเร็วมากพอที่จะหลีกเลี่ยงการเปิดรับแสงมากเกินไปหรือทำให้ภาพถ่ายของคุณออกมาขาวเกินไป การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งค่าทั้งหมดของคุณในกล้อง DSLR ทั้งรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ความยาวโฟกัส และ ISO นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระยะชัดลึกที่ตื้นที่ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ยิ่งความยาวโฟกัสของคุณยาวมากแค่ไหน ระยะชัดลึกของคุณก็จะยิ่งตื้นมากขึ้นเท่านั้น

 

อีกวิธีหนึ่งให้ได้ระยะชัดลึกที่ตื้นคือการเพิ่มระยะห่างระหว่างกล้อง ตัวแบบ และฉากหลังของคุณ ถึงแม้คุณจะไม่มีเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างมาก เช่น f/1.4 คุณก็ถ่ายภาพเอฟเฟ็กต์สวยๆ ได้ด้วยการขยับออกห่างจากตัวแบบแล้วซูมเข้าไป หรือดูให้แน่ใจว่าตัวแบบอยู่แยกจากฉากหลังชัดเจน การให้คนยืนห่างจากแนวต้นไม้ 20 ฟุตจะได้ฉากหลังที่นุ่มนวลกว่าให้คนยืนพิงต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งหรือกำแพงแข็งๆ

 

ระยะชัดลึกที่ตื้นที่ประสบความสำเร็จ

“ในฐานะช่างภาพมือใหม่ ถ้าคุณต้องการเน้นที่ตัวแบบ การใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นนั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุด” ช่างภาพ Derek Boyd กล่าว ถือว่าเป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมที่ช่วยชี้นำผู้ชมของคุณไปยังจุดสำคัญในภาพนั้น การเน้นที่จุดหนึ่งและทำให้องค์ประกอบที่เหลือเบลอแบบนุ่มนวลทำให้คุณสามารถเพิ่มนัยสำคัญให้กับภาพถ่ายของคุณได้ และยังสามารถใช้ในการ “ทำให้บางอย่างหลุดโฟกัสเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้คนและทำให้รู้สึกประหลาดใจมากขึ้น” ช่างภาพ Stephen Klise กล่าว การทำให้ตัวแบบเบลออย่างนุ่มนวลนั้นสามารถเพิ่มความลึกและความน่าหลงใหลให้กับภาพได้

 

ช่างภาพ Hannah Concannon ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ในการใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นนั้น คุณสามารถเน้นส่วนที่น่าสนใจของภาพได้อย่างแท้จริง” เธอกล่าว “ฉันถ่ายภาพที่มีช่อดอกไม้เมื่อสองสามเดือนก่อน แล้วก็เจอกับแมลงวันบ้านที่ทำจากพลาสติกสีดำตัวเล็กๆ เหล่านี้ ฉันก็แค่ใส่มันเข้าไปหนึ่งตัวแล้วดูว่าสามารถโฟกัสได้หรือไม่ และให้ระยะชัดลึกที่ตื้นนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่แมลงวันบ้านตัวนั้นเท่านั้น” ระยะชัดลึกที่ตื้นสามารถดึงความสนใจของผู้ชมและเน้นสิ่งที่ไม่คาดคิดได้

 

ศิลปินอย่าง Cheryl Medow ใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นจนได้ผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมในตอนที่ถ่ายภาพนกในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ในการถ่ายภาพด้วยระยะชัดลึกที่ตื้นนั้น นกจะอยู่ในโฟกัสในขณะที่ฉากหลังเบลอทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ตัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวแบบออกได้อย่างง่ายดายและสร้างชิ้นส่วนองค์ประกอบอันน่าทึ่ง ช่วยเพิ่มองค์ประกอบของศิลปะลัทธิเหนือจริงให้กับผลงานนี้

ภาพถ่ายระยะชัดลึกที่ตื้นของดอกไม้บนเนินเขาที่มีแสงแดดส่อง
ภาพถ่ายระยะชัดลึกที่ตื้นของมันฝรั่งที่เพิ่งขุดออกมากลางทุ่ง
การถ่ายภาพระยะชัดลึกที่ตื้นของกล้องของช่างภาพอีกคน

แต่ชิ้นส่วนองค์ประกอบเหล่านั้นไม่ใช่ประโยชน์เดียวของฉากหลังที่เบลอ Carlson แบ่งปันเรื่องเล่าสั้นๆไว้ว่า “คุณออกไปถ่ายภาพและมีบางอย่างที่ดึงดูดสายตาคุณ เช่น ดอกไม้ คน หรือสถานที่สำคัญ ดวงตาของเราทำงานแบบนี้ คือเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นและคิดว่าน่าจะได้ภาพที่ดีเลย คุณถ่ายภาพ มีความสุข แล้วก็ไปต่อ ในภายหลัง คุณมองที่ภาพของคุณและพบว่าคุณไม่ได้สำรวจฉากนั้นให้ดีพอ เลยอาจจะได้ภาพดอกไม้มา แต่ก็มีขยะล้นถังอยู่ในฉากหลังที่คุณไม่ได้สังเกตเพราะมัวจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ดึงดูดสายตาของคุณนั่นเอง

จุดนี้เองที่ระยะชัดลึกที่ตื้นสามารถช่วยได้ โดยช่วยให้คุณโฟกัสในสิ่งที่สำคัญ และเบลอจุดบกพร่องที่ไม่จำเป็นเพื่อยกระดับองค์ประกอบของคุณ

ระยะชัดลึกในภาพถ่ายบุคคล

“คนพูดถึงการใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นในตอนถ่ายภาพบุคคลกันเยอะมาก” Klise กล่าว ภาพถ่ายบุคคลมักจะเน้นที่ลักษณะบนใบหน้าของคน การใช้โฟกัสที่ตื้นกับดวงตาของตัวแบบอาจมีความสำคัญได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการให้ผู้ชมเชื่อมต่อกับตัวแบบในภาพถ่ายโดยตรง ระยะชัดลึกที่ตื้นยังช่วยกำจัดรายละเอียดที่ดึงสายตาในฉากหลังได้อีกด้วย แต่ก็ “มีทั้งที่ออกมาดีและไม่ดีอยู่มาก” เมื่อใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นในการถ่ายภาพบุคคล Klise กล่าวเสริมว่า หากระยะชัดลึกนั้นตื้น แต่โฟกัสอยู่ที่จมูกของตัวแบบเท่านั้น แสดงว่าคุณพลาดแล้วและปิดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ชมกับตัวแบบของคุณ

ภาพ Headshot ที่ใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นของชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่บนชายหาด

หากคุณถ่ายภาพบุคคลในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสลัว คุณอาจต้องเปิดรูรับแสงถึง f/1.4 เพื่อให้ได้แสงรอบข้างที่เพียงพอสำหรับการเปิดรับแสงที่ดี แต่ก็ทำให้ได้ระยะชัดลึกที่ตื้น ซึ่งทำให้ตัวแบบของคุณเบลอได้ คุณสามารถป้องกันการเกิดระยะชัดลึกที่ตื้นโดยไม่ได้ตั้งใจได้โดยการเปิดรูรับแสงที่ f/5.6 หรือ f/8 เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นอยู่ในโฟกัสทั้งหมด แต่การใช้ค่ารูรับแสงเท่านี้นั้นคุณอาจต้องใช้แสงประดิษฐ์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้การเปิดรับแสงที่เพียงพอ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และช่างภาพ Alex Tan แนะนำให้มือใหม่ “เข้าใจและเรียนรู้การปรับใช้แสงประดิษฐ์ เช่น ไฟแฟลชและไฟต่อเนื่อง” อย่าให้โลกของแสงประดิษฐ์ครอบงำคุณ แสงประดิษฐ์เป็นเพียงโอกาสหนึ่งในการเรียนรู้เท่านั้น และการมีเครื่องมือจัดไฟที่ถูกต้องให้ใช้นั้นจะช่วยให้คุณจัดองค์ประกอบภาพออกมาได้ดีที่สุดและได้ระยะชัดลึกที่ตื้นหรือลึกตามที่คุณต้องการ

ความท้าทายของระยะชัดลึกที่ตื้น

นอกจากการทำให้ระยะชัดลึกของคุณตื้นเกินไปแล้ว Boyd กล่าวเสริมว่า อุปสรรคของระยะชัดลึกที่ตื้นก็คือ “บางครั้งคนเราก็อาจทำมากเกินไปได้” อย่าใช้ในทางที่ผิด และอย่าปล่อยให้เครื่องมือนี้กลายเป็นไม้ค้ำที่คุณพึ่งพาจนมากเกินไป หากคุณถ่ายภาพทั้งหมดในรูปแบบเดียว คุณจะสูญเสียโอกาสในการขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของคุณไป อย่าทำให้ภาพของคุณออกมาไม่น่าสนใจด้วยการชี้นำผู้ชมจนมากเกินไป หากมีเพียงสิ่งเดียวให้ดู ภาพถ่ายของคุณอาจขาดการพัฒนาการเล่าเรื่องไปได้

 

ความท้าทายหลักๆ อีกอย่างหนึ่งของระยะชัดลึกที่ตื้นคือการทำให้แน่ใจว่าระยะโฟกัสของคุณกว้างพอและอยู่ในจุดที่เหมาะสม Boyd อธิบายว่า “ผมแนะนำให้ถ่ายแบบ Bracketing คือให้ถ่ายมาสองสามภาพ ภาพหนึ่งค่า f-stop ที่ 1.2 ภาพต่อไปค่า f/1.8 และอีกภาพหนึ่งค่า f/2.0 เป็นต้น หวังว่าหนึ่งในสามภาพนั้นจะมีทุกอย่างที่คุณต้องการอยู่ในโฟกัสและทุกอย่างที่ไม่ต้องการนั้นไม่อยู่ในโฟกัส” การถ่ายแบบ Bracketing นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการถ่ายภาพบุคคลและสามารถช่วยรับประกันว่าทั้งใบหน้าของคนคนนั้นจะอยู่ในโฟกัส

 

“หากคุณอยากรู้จริงๆ ว่าคุณจะได้ภาพแบบไหนเมื่อใช้ระยะชัดลึกที่ตื้น ให้ปรับโฟกัสกล้องและซูมเข้าไปด้วยตัวเอง” Boyd กล่าว กล้องส่วนใหญ่นั้นสร้างขึ้นเพื่อให้โฟกัสที่ใบหน้า และอาจหลุดโฟกัสไปเพราะบริเวณที่มี Contrast สูงในภาพถ่าย การตั้งกล้อง DSLR ของคุณไว้ในโหมด Manual ช่วยให้คุณควบคุมได้ทั้งหมดว่าคุณต้องการให้ระยะชัดลึกที่ตื้นนั้นอยู่บริเวณไหน

“หากคุณอยากรู้จริงๆ ว่าคุณจะได้ภาพแบบไหนเมื่อใช้ระยะชัดลึกที่ตื้น ให้ปรับโฟกัสกล้องและซูมเข้าไปด้วยตัวเอง”

ให้หลีกเลี่ยงการใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพระยะชัดลึกที่ตื้น เลนส์มุมกว้างนั้นเหมาะกับระยะชัดลึกที่ลึกมากกว่า โดยทำให้ทั้งฉากของคุณนั้นอยู่ในโฟกัสได้ การถ่ายภาพภูมิทัศน์เป็นสถานที่เดียวที่ต้องการโฟกัสที่คมชัดและระยะชัดลึกที่ลึก อย่าทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และให้ใช้ความยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นแทน

วิธีปรับปรุงโฟกัสของคุณ

ประสบการณ์คือครูที่ดีที่สุด หากคุณต้องการเก่งในด้านเทคนิคของระยะชัดลึกที่ตื้น ให้ออกไปถ่ายรูปเลย Carlson แนะนำว่า “ให้ถ่ายในโหมด Manual หรือโหมด Aperture Priority” โดยแนะนำให้มือใหม่เลือกตัวแบบที่เรียบง่ายและทดลองถ่ายด้วยโฟกัสแบบ Bracketing ดู เมื่อคุณถ่ายภาพเดียวกันโดยใช้รูรับแสงที่ต่างกัน ให้ย้อนไปดูและพิจารณาความแตกต่าง ดูระดับรายละเอียดที่ได้จากแต่ละภาพ และเรียนรู้ช่วงของระยะชัดลึกแต่ละแบบ

ภาพระยะชัดลึกที่ตื้นของดอกไม้สีส้มและสีแดงอันสดใส
ภาพระยะชัดลึกที่ตื้นอันสวยงามของผู้หญิงผมสีน้ำตาลแดงที่มีรอยสัก

อีกวิธีในการปรับปรุงระยะชัดลึกที่ตื้นคือการมุ่งเน้นที่การเล่าเรื่องในภาพถ่ายของคุณ วัตถุชิ้นหนึ่งนั้นสำคัญต่อเรื่องราวที่ภาพถ่ายของคุณสื่อหรือไม่ ทดลองกับระยะชัดลึกทั้งแบบตื้นและแบบลึก และดูว่าแต่ละแบบเปลี่ยนแปลงเรื่องราวนั้นไปอย่างไรบ้าง ในท้ายที่สุดแล้ว การถ่ายภาพก็คือการเล่าเรื่อง และเทคนิคอย่างระยะชัดลึกที่ตื้นก็คือตัวเลือกที่ศิลปินสามารถทำได้เพื่อจัดลำดับความสำคัญและขยายการเล่าเรื่องนั้น หากคุณไม่ได้ระยะชัดลึกตามที่ต้องการในตอนถ่ายภาพ คุณสามารถปรับแต่งการเบลอบางส่วนได้ในกระบวนการหลังการถ่าย ดูบทช่วยสอนการเลือกพื้นที่การโฟกัสในภาพของคุณใน Photoshop เพื่อเป็นการเริ่มต้นได้ การเสริมสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องมือง่ายๆ เหล่านี้จะช่วยให้คุณปรับความเบลอและระยะชัดลึกในภาพถ่ายของคุณได้

เมื่อคุณรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นแล้ว คุณจะนำไปใช้กับภาพถ่ายของคุณเองอย่างไร โปรดจำไว้ว่านี่คือตัวเลือกทางเทคนิคที่สามารถช่วยถ่ายทอดวิสัยทัศน์ทางศิลปะของคุณได้ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่างภาพที่ควรทำความเข้าใจและฝึกฝน แต่อย่าปล่อยให้กลายเป็นกล้องหรือการตั้งค่ารู้รับแสงที่คุณต้องใช้เสมอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจทำให้ตัวแบบของคุณหลุดจากระนาบโฟกัสที่ตื้นนั้นได้อย่างง่ายดาย หากคุณต้องการสำรวจการใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นมากขึ้น ให้เริ่มจากการถ่ายภาพ Macro เนื่องจากปกติภาพระยะใกล้นั้นจะมีระยะชัดลึกที่ตื้นมาก ไม่อย่างนั้นก็ให้ตั้งใจกับจุดโฟกัสของคุณและลองใช้เทคนิคนี้ดู 

ผู้มีส่วนร่วม

Jeff Carlson Derek Boyd Alex Tan Hannah Concannon

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom

แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์

และคุณอาจสนใจ...

นักเต้นบัลเลต์ที่กำลังแสดงบนเวที - การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ | Adobe

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์

ค้นพบว่าการปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ชัดเจนได้หรือจับภาพช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวได้อย่างไร

ภาพสุนัขสีขาวที่อยู่ถัดจากแหล่งน้ำ - เคล็ดลับเกี่ยวกับความยาวโฟกัส | Adobe

ทำความเข้าใจความยาวโฟกัส

ค้นพบวิธีเลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่ายแต่ละภาพ

landscape-photography

สร้างภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
สำรวจวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างมีศิลปะพร้อมเคล็ดลับในการถ่ายภาพทิวทัศน์

ภาพเมืองญี่ปุ่นยามค่ำคืน - เคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืน | Adobe

การถ่ายภาพกลางคืน
แสงน้อยไม่ได้ทำให้ภาพมีคุณภาพต่ำเสมอไปด้วยเคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืนให้ดูดีเหล่านี้

Lightroom

แผน Lightroom

แก้ไข จัดระเบียบ จัดเก็บ และแบ่งปันภาพถ่ายได้จากทุกที่
ใช้งานฟรี 7 วัน จากนั้น ฿380.92/เดือน

Lightroom
Photoshop

การถ่ายภาพ

รับ Lightroom, Lightroom Classic, Photoshop และเนื้อที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ 20 GB ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น฿304.95/เดือน.(รวม VAT)

Lightroom

All Apps

รับคอลเลกชันแอปสร้างสรรค์ทั้งหมดและอีกมากมาย
ทดลองใช้ฟรี 7 วัน จากนั้น ฿1,143.83/เดือน (รวม VAT)