การถ่ายภาพนกสำหรับมือใหม่

กล้องดิจิทัลช่วยให้ทุกคนสามารถถ่ายภาพนกออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เพิ่มพูนทักษะของคุณด้วยเคล็ดลับการถ่ายภาพนกเหล่านี้จากช่างภาพสัตว์ป่าผู้เชี่ยวชาญ

ภาพระยะใกล้ของนกสองตัว

ภาพถ่ายโดย Joseph Filer

เรียนรู้การถ่ายภาพทายาทไดโนเสาร์ที่มีชีวิต

ความนิยมในกิจกรรมดูนก (การเฝ้าสังเกตดูนกในป่า) เพิ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กล้องในยุคแรกๆ นั้นช้าและใหญ่เทอะทะ การถ่ายภาพนกที่มีชีวิตให้มีคุณภาพดีจึงถ่ายได้ยากกว่าตัวแบบในการถ่ายภาพธรรมชาติแบบอื่นๆ ผู้ดูนกส่วนใหญ่จึงทำได้เพียงรับชมพฤติกรรมของนก แม้จะมีการเริ่มใช้งานระบบออโต้โฟกัสในช่วงปี 1980 แต่ราคาเลนส์ Telephoto และฟิล์มก็ยังทำให้การถ่ายภาพนกเป็นกิจกรรมที่แพงเกินไปสำหรับช่างถ่ายภาพธรรมชาติมือใหม่ส่วนมาก


ปัจจุบันนี้ กล้องดิจิทัลส่วนมากมีระบบออโต้โฟกัสที่รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงมีความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วถึงหลักมิลลิวินาที ความเร็วดังกล่าวที่ประกอบกับความสามารถทาง ISO ที่สูงขึ้นจึงเปิดโอกาสให้ช่างถ่ายภาพนกจำนวนมากขึ้นสามารถถ่ายภาพนกขณะเคลื่อนไหวได้อย่างคมชัด และเมื่อมีโหมด Burst (การถ่ายภาพหลายๆ ภาพต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว) และเมื่อไม่ต้องจ่ายค่าฟิล์มราคาแพง คุณจึงสามารถถ่ายภาพเป็นร้อยๆ ภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อเสาะหาหนึ่งภาพที่สมบูรณ์แบบ

ภาพถ่ายระยะใกล้ของลูกนก
ภาพถ่ายมุมแหงนมองตรงไปยังฝูงนกที่บินร่อน

ภาพถ่ายโดย Gerrit Vyn

อุปกรณ์มีความสำคัญ

คุณสามารถใช้กล้องดิจิทัลใดๆ ก็ได้ในการถ่ายภาพนกให้ออกมามีคุณภาพดี แต่คำแนะนำเหล่านี้คือสิ่งที่มืออาชีพเสนอแนะเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

กล้อง

ตัวกล้องของคุณอาจเป็นกล้อง DSLR หรือกล้อง Mirrorless ก็ได้ แต่กล้องจะต้องมีความเร็วชัตเตอร์ที่อย่างน้อย 1/2000 วินาที โดยคุณอาจถ่ายภาพปีกนกฮัมมิงเบิร์ดได้โดยไม่มี Motion Blur เลยด้วยซ้ำในความเร็วดังกล่าว

 

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหาโฟกัส ซึ่งเป็นความเร็วที่มอเตอร์ในกล้องและเลนส์ของคุณจะโฟกัสไปที่ตัวแบบ ยิ่งคุณถ่ายภาพหลายๆ ภาพได้อย่างรวดเร็วมากเท่าไร แนวโน้มที่คุณจะจับภาพตัวแบบในลักษณะที่คุณต้องการได้ก็ยิ่งมีมากเท่านั้น การใช้กล้องที่มีโหมด Burst ที่สามารถถ่ายภาพได้หกถึงเก้าเฟรมต่อวินาที (FPS) และมีบัฟเฟอร์ใหญ่พอในการจัดการการถ่ายภาพ Burst ปริมาณมากก่อนที่กล้องจะต้องหยุดถ่ายชั่วคราวจึงจะช่วยในแง่นี้ได้

 

เลนส์

เลนส์ยาวๆ อาจมีราคาแพงและหนัก แต่คุณจำเป็นต้องใช้ความยาวโฟกัสที่ยาวเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ให้คมชัด คุณสามารถเพิ่มความยาวโฟกัสได้ด้วยเทเลคอนเวอร์เตอร์ ซึ่งเป็นเลนส์เสริมที่ยึดติดไว้ระหว่างตัวกล้องและเลนส์อีกตัว

 

ช่างภาพสัตว์ป่าและภูมิทัศน์อย่าง Joseph Filer ใช้กล้อง DSLR พร้อมเลนส์ 800 มม. ในการถ่ายภาพนก โดยช่างภาพ Gerrit Vyn อธิบายว่าคุณต้องใช้ความยาวโฟกัสที่ยาว รวมทั้งต้องอยู่ใกล้ๆ นก “หากต้องการถ่ายภาพเหยี่ยวแบบเต็มเฟรมจากระยะ 60 ฟุต คุณจะต้องใช้เลนส์ 500 มม. และเทเลคอนเวอร์เตอร์ 1.4 เท่า” Vyn อธิบาย “หากต้องการถ่ายภาพนกกระจิบที่มีความยาวห้าหรือหกนิ้ว คุณจะต้องอยู่ห่างจากนกราวๆ 15 ฟุต”

 

ISO

การตั้งค่า ISO เป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่เซนเซอร์กล้องของคุณจะรับเข้าไป คุณสามารถใช้การตั้งค่า ISO ที่ต่ำลงมา เช่น ISO 400 และลดความเร็วชัตเตอร์เพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุดสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง (ภาพถ่ายนกยืนอยู่นิ่งๆ) แต่สำหรับนกที่กำลังเคลื่อนไหว คุณอาจปรับ ISO ได้สูงถึง 800 หรือมากกว่า เพื่อให้สูงพอที่จะรับแสงในปริมาณมากได้ภายในเสี้ยววินาที โดย Vyn กล่าวว่า “หากผมรอให้นกแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่าง ผมจะใช้ค่า ISO และความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรอช่วงเวลาดังกล่าว”

 

รูรับแสง

รูรับแสงเป็นช่องในเลนส์ที่เปิดให้แสงผ่านไปยังเซนเซอร์ของกล้องได้ โดยวัดเป็นค่า F-Stop (อย่าลืมว่ายิ่งค่า F-Stop ต่ำมากเท่าไร ช่องก็จะยิ่งเปิดกว้างมากเท่านั้น) โหมด Aperture Priority เป็นการตั้งค่ากล้อง (ตัว A หรือ Av บนแป้นหมุนของกล้อง) ที่คุณสามารถใช้เพื่อกำหนดรูรับแสงได้ด้วยตนเอง แล้วกล้องของคุณจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดให้สอดคล้องกับค่ารูรับแสงโดยอัตโนมัติ หากกล้องตรวจจับเจอแสงที่มากเกินไป กล้องจะปรับเพิ่มความเร็วชัตเตอร์

 

ขาตั้งกล้อง

หากคุณต้องการถ่ายภาพนกที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ นั่งอยู่ในรัง หรือยืนอยู่เหนือน้ำ คุณสามารถถ่ายภาพให้ดีขึ้นได้โดยใช้ขาตั้งกล้อง ความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นมาในอีกระดับนี้จะช่วยให้คุณสามารถลดความเร็วชัตเตอร์และเพิ่มระยะชัดลึกได้ “การถ่ายภาพจะสนุกกว่าหากไม่ใช้ขาตั้งกล้องแล้วเคลื่อนที่ไปรอบๆ” Filer กล่าว “แต่ถ้าคุณต้องการถ่ายภาพนิ่ง การใช้ขาตั้งกล้องก็สมเหตุสมผลแล้ว”

 

หากคุณต้องการถ่ายภาพนกที่กำลังโผบินหรือกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วบนพื้นดิน การคงกล้องไว้ให้นิ่งถือเป็นกุญแจสำคัญ แต่ขาตั้งกล้องก็อาจจะเทอะทะเกินไป คุณอาจใช้เลนส์ซูม Telephoto 200–500 มม. ที่เบาลงมาและความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วเพื่อถ่ายภาพดีๆ โดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องได้

ภาพถ่ายนกกระเรียนขาวพักอยู่บนกิ่งไม้
ภาพถ่ายนกขณะบิน โดยด้านล่างคือภาพนอกยืนอยู่ในน้ำตื้น

ภาพถ่ายโดย Joseph Filer

เคล็ดลับจากภาคสนาม

ลองพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้ก่อนที่คุณจะทะยานเข้าสู่วงการถ่ายภาพนก เพื่อให้สามารถถ่ายภาพออกมามีคุณภาพดีที่สุด

 

วางแผนล่วงหน้า

ไม่ว่าคุณจะต้องการถ่ายภาพนกสายพันธุ์ทั่วไปหรือสายพันธุ์หายาก ให้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับนกเป้าหมาย คุณอาจซื้อคู่มือภาคสนามราคาย่อมเยาที่จะแจ้งข้อมูลว่าคุณสามารถพบเจอนกได้ในที่ใด รวมถึงช่วงเวลาที่นกจะมีสีสันมากที่สุดสำหรับฤดูผสมพันธุ์ จากนั้นให้สำรวจสถานที่ถ่ายภาพของคุณ “ไม่ค่อยมีการเดินทางไปถ่ายภาพของผมครั้งไหนที่ผมกำลังถ่ายภาพภูมิทัศน์อยู่แล้วก็พูดขึ้นมาว่า ‘โอ้ มีสัตว์อยู่ด้วยล่ะ ไปถ่ายภาพสัตว์ดีกว่า’” Filer เล่า “การถ่ายภาพสัตว์ไม่ใช่อะไรแบบนั้น คุณต้องตั้งเป้าหมาย”

 

Filer แนะนำให้เริ่มถ่ายภาพที่ชายหาดหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเข้าร่วมเวิร์กชอปที่มีการจัดเตรียมแหล่งอำพรางตัวสำหรับถ่ายภาพไว้ให้คุณ โดยแหล่งอำพรางตัวคือเต็นท์หรือสิ่งก่อสร้างถาวรที่ป้องกันไม่ให้สัตว์มองเห็นช่างภาพ

 

ปรับตัวตามถิ่นที่อยู่อาศัยของนก

ลักษณะที่คุณจัดเตรียมอุปกรณ์ย่อมขึ้นอยู่กับนกที่คุณต้องการถ่ายภาพและนกยอมอยู่ใกล้มนุษย์ได้ในระดับใด โดย Vyn อธิบายว่า “หากคุณต้องการถ่ายภาพนกกระจิบริมบึง คุณก็อาจนั่งรออยู่ในพุ่มต้นธูปฤาษี แล้วเดี๋ยวนกก็จะบินมาเกาะใกล้ๆ ตัวคุณเอง”

 

สำหรับนกในสวนหลังบ้าน คุณอาจนำอุปกรณ์ให้อาหารนกมาติดบนราวเกาะตามธรรมชาติ แล้วรออยู่ในแหล่งอำพรางตัวเพื่อให้นกบินมาเกาะ และสำหรับเป็ด คุณอาจนั่งรอในแหล่งอำพรางตัวที่ริมสระน้ำ หรืออำพรางตัวในรูปแบบอื่นๆ โดย Vyn แนะนำว่า “ทุกอย่างล้วนแล้วขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่ ชนิดสายพันธุ์ และช่วงเวลาของปี ดังนั้นความรู้รอบด้านเกี่ยวกับชีวิตของนกจึงจะช่วยพัฒนาความสามารถของคุณในการค้นหานก เข้าใกล้นก และถ่ายภาพตามที่คุณต้องการได้อย่างรวดเร็ว”

 

ไปตั้งแต่เช้าหรือรอตอนเย็น

คุณไม่ควรถ่ายภาพในช่วงเที่ยงวัน โดย Filer แนะนำว่า “คุณต้องออกไปถ่ายภาพในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงบ่ายแก่ด้วยมุมที่มีแสงแดดอ่อนๆ” หากคุณพยายามถ่ายภาพนกสีขาวในตอนกลางวัน ความต่างระดับสีระหว่างขนนกและท้องฟ้าจะมีไม่เพียงพอ

ภาพถ่าย Silhouette จากระยะไกลของช่างภาพที่กำลังถ่ายภาพนกไม่กี่ตัวบินผ่านไป

ถ่ายภาพในระดับสายตานก

คุณไม่อาจถ่ายภาพดีๆ ได้จากมุมด้านบนที่ถ่ายลงมายังนกด้านล่าง หรือจากการถ่ายภาพนกในระยะไกลจากมุมด้านล่าง ซึ่ง Vyn อธิบายว่า “คุณต้องนอนคว่ำกับพื้นหากนกอยู่ในสระน้ำหรือบนพื้นดิน และไม่ควรถ่ายภาพนกบนต้นไม้จากระยะไกลจนเกินไป”

 

ถ่ายภาพในโหมดไฟล์ดิบ

“ไฟล์ดิบมีรายละเอียดและโทนสีที่แตกต่างกันไปมากมายเมื่อเทียบกับไฟล์ JPEG” Filer กล่าว “คุณจะมีข้อมูลให้ทำงานมากขึ้น และยิ่งคุณมีข้อมูลสำหรับการไล่ระดับสี โทนสี และสีสันมากเท่าไรในรูป คุณก็จะยิ่งทำงานได้ดีมากขึ้นเท่านั้น”

การปรับการตั้งค่าภาพถ่ายนกยูงใน Adobe Photoshop Lightroom

แก้ไขภาพใน Adobe Photoshop Lightroom

ยกระดับภาพถ่ายนกของคุณใน Lightroom คุณสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้อย่างง่ายดายจากบทช่วยสอนเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่วิธีการปรับให้ภาพถ่ายของคุณคมชัดยิ่งขึ้น ตลอดจนวิธีการแก้ไขภาพถ่ายโดยใช้การไล่ระดับสี

 

Filer ใช้โปรแกรมแปลงไฟล์ดิบของ Lightroom และดำเนินงานในโหมด 32 บิตเพื่อทำการแก้ไขภาพในขั้นตอนการประมวลผลภาพของเขา โดย Vyn ใช้ Photoshop Lightroom เพื่อแก้ไขภาพ รวมทั้งใช้สำหรับข้อมูลเมตาด้วย เขาเพิ่มข้อมูลชื่อสายพันธุ์นก สถานที่พบ และเวลาที่ถ่ายภาพลงไป “Lightroom เป็นซอฟต์แวร์ที่นึกถึงเป็นอันดับแรกจริงๆ ครับ” Vyn เห็นพ้อง “ทุกๆ ฟังก์ชันสำหรับการสร้างคำสำคัญและการสร้างคำบรรยายช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก”

 

มองว่าทุกประสบการณ์คือการฝึกฝน

ยิ่งคุณถ่ายภาพมากเท่าไร ฝีมือของคุณก็จะดียิ่งขึ้นเท่านั้น “คุณจะได้ลองผิดลองถูก คุณจะได้ทำผิดพลาด และคุณจะได้เรียนรู้” Filer อธิบาย “แทบจะทุกภาพที่ผมถ่ายในช่วงปีแรกๆ หายไปหมดแล้ว โดยมีผลงานที่ดีกว่ามาทดแทน แต่การพยายามพัฒนาฝีมือก็เป็นเรื่องสนุกอย่างหนึ่ง”

ผู้มีส่วนร่วม

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom

แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์

และคุณอาจสนใจ...

landscape-photography

สร้างภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
สำรวจวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างมีศิลปะพร้อมเคล็ดลับในการถ่ายภาพทิวทัศน์

การถ่ายภาพดวงดาวเป็นศิลปะแห่งการถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนและอื่นๆ อีกมากมาย

การถ่ายภาพดวงดาว

ค้นพบรายละเอียดในการถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนอันน่าทึ่ง

ภาพมดคันไฟกำลังออกหากินที่ถ่ายด้วยการถ่ายภาพมาโคร

การถ่ายภาพมาโครคืออะไร

เดินทางสู่โลกใบใหม่และทำให้ตัวแบบขนาดเล็กของคุณดูใหญ่โตเกินจริงด้วยเคล็ดลับการถ่ายภาพมาโคร

นักสเกตบอร์ดเดินข้ามถนน

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพสารคดี

บันทึกเหตุการณ์สำคัญและถ่ายภาพชีวิตประจำวันด้วยการผสมผสานระหว่างงานวิจิตรศิลป์กับ Photojournalism