ระหว่างเซนเซอร์แบบครอบตัดและแบบฟูลเฟรม: รูปแบบไหนตอบโจทย์คุณที่สุด

กล้องดิจิทัลทั้งหมดล้วนจำแนกตามขนาดเซนเซอร์ และเซนเซอร์สองขนาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือแบบครอบตัดและแบบฟูลเฟรม เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเซนเซอร์แต่ละประเภท เพื่อให้คุณสามารถเลือกกล้องที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณที่สุด

ภาพถ่ายระยะใกล้ของเซนเซอร์กล้อง DSLR

ทำความเข้าใจเซนเซอร์กล้อง

ในการตัดสินใจว่าคุณจะซื้อหรือใช้กล้องตัวใด หนึ่งในการตัดสินใจแรกๆ ที่สำคัญที่สุดที่คุณต้องตีให้แตกคือการเลือกขนาดเซนเซอร์ที่ต้องการใช้ วงการถ่ายภาพดิจิทัลประกอบไปด้วยกล้องสองหมวดหมู่หลักๆ ได้แก่ กล้องที่มีเซนเซอร์แบบครอบตัดและกล้องที่มีเซนเซอร์แบบฟูลเฟรม

 

เซนเซอร์แต่ละขนาดล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และคุณอาจพบว่าเซนเซอร์แบบครอบตัดหรือกล้องแบบฟูลเฟรมนั้นเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับคุณมากกว่าโดยขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการถ่ายภาพของคุณ เมื่อคุณทราบคุณสมบัติของทั้งสองประเภทแล้ว คุณจะสามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับงานได้อย่างมั่นใจ

 

คำอธิบายเกี่ยวกับเซนเซอร์แบบฟูลเฟรมและแบบครอบตัด

เซนเซอร์คือช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อยู่ตรงกลางกล้อง DSLR ซึ่งทำหน้าที่อ่านภาพจากเลนส์ โดยทั่วไปแล้วยิ่งเซนเซอร์มีขนาดใหญ่เท่าใด คุณก็ยิ่งจับภาพแสงและรายละเอียดได้มากขึ้นเท่านั้น และคุณภาพของภาพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกล้องฟูลเฟรมมีเซนเซอร์ขนาดเท่ากับกล้องฟิล์ม 35 มม. (24 มม. x 36 มม.)

เซนเซอร์แบบครอบตัดถัดจากเซนเซอร์แบบฟูลเฟรม

เซนเซอร์แบบครอบตัดทำงานอย่างไร

เซนเซอร์แบบครอบตัดมีขนาดเล็กกว่าขนาดมาตรฐานที่ 35 มม. ภาพที่ถ่ายจากกล้องเหล่านี้จึงจะถูกครอบตัด ซึ่งหมายความว่า ขอบของภาพถ่ายของคุณจะถูกครอบตัดเพื่อให้มีมุมมองภาพที่แคบลงมา ตัวอย่างเช่น หากคุณใช้เลนส์ 50 มม. กับกล้องที่มีเซนเซอร์แบบครอบตัดพร้อมเอฟเฟกต์ตัวคูณที่ 1.5 เท่า ความยาวโฟกัสที่ใช้ได้ของคุณจะเท่ากับเลนส์ 75 มม.

 

“ตัวกล้องประเภทต่างๆ มีแฟกเตอร์ครอบตัดที่ต่างกัน” ช่างภาพ Whitney Whitehouse อธิบาย “Canon มีเซนเซอร์ครอบตัดอยู่ที่ 1.6 เท่า ในขณะที่ Nikon, Sony, Sigma และ Pentax มีตัวคูณอยู่ที่ 1.5 เท่า โดยที่ Panasonic และ Olympus อยู่ที่ 2 เท่า”

 

คุณสามารถหามุมมองที่เทียบเท่ากันสำหรับเลนส์ในกล้องที่มีเซนเซอร์แบบครอบตัดได้ง่ายๆ โดยการคูณกำลังขยายด้วยความยาวโฟกัสของเลนส์ เซนเซอร์แบบครอบตัดสองขนาดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ APS-C และ Micro Four Thirds ซึ่งมีแฟกเตอร์การครอบตัดอยู่ที่ 1.6 เท่าและ 1.5 เท่าตามลำดับ

 

ข้อดีของกล้องฟูลเฟรม

 

ช่วงไดนามิก

ช่วงไดนามิกหมายถึงช่วงระยะโดยสมบูรณ์ของค่าการเปิดรับแสงในรูปภาพ ตั้งแต่บริเวณที่มืดที่สุดไปจนถึงส่วนที่สว่างที่สุด กล้อง DSLR ฟูลเฟรมรุ่นใหม่ๆ จะมีช่วงไดนามิกสูงสุด ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถถ่ายภาพที่มี Contrast ที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งยังหมายความว่าในกรณีที่คุณถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงน้อยหรือมากเกินไป ไฟล์ภาพฟูลเฟรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณถ่ายภาพในโหมดรอว์) จะให้อิสระแก่คุณในการแก้ไขส่วนที่สว่างจนขาวโพลนหรือส่วนที่เป็นเงาเข้มได้มากกว่าเซนเซอร์แบบครอบตัด

ภาพถ่ายดาวบนท้องฟ้าเหนือทิวทัศน์ภูเขาและป่าไม้
ภาพถ่ายบ้านริมทะเลสาบที่มีภูเขาซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะอยู่ด้านหลัง

ประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อย

“ประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อยของเซนเซอร์แบบครอบตัดจะไม่เท่าเซนเซอร์แบบฟูลเฟรมซึ่งมีความคมชัดมากกว่าอย่างยิ่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดนอยส์น้อยกว่าและถ่ายภาพรายละเอียดได้มากขึ้น” ช่างภาพ Felipe Silva กล่าว

 

การถ่ายภาพดวงดาวเป็นอีกหนึ่งสภาวะแสงน้อยที่เซนเซอร์ขนาดใหญ่จะสามารถถ่ายภาพออกมาได้สวย โดย Silva เล่าว่า “เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะใช้เซนเซอร์แบบครอบตัดถ่ายภาพท้องฟ้าในตอนกลางคืนให้ออกมาดูดี เนื่องจากเซนเซอร์ประเภทนี้มีขนาดเล็กกว่า จึงหมายความว่าเปิดรับแสงได้น้อยลงไปด้วย ซึ่งในตอนกลางคืนก็มืดพออยู่แล้ว”

 

ประสิทธิภาพที่ดีของ ISO ควบคู่ไปกับศักยภาพในสภาวะแสงน้อย เนื่องจากเซนเซอร์ขนาดใหญ่จะเปิดรับแสงมากกว่า คุณจึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่า ISO เพื่อชดเชยแสงที่ขาดไป ซึ่งจะเป็นการลดคุณภาพของภาพถ่ายด้วยนอยส์ในลักษณะของเกรนที่มาพร้อมกับค่า ISO ในระดับสูง

ภาพใบไม้บนต้นไม้ในระยะใกล้
ภาพดอกไม้บานในระยะใกล้

ระยะชัดลึกตื้น

แม้เลนส์และขนาดสูงสุดของรูรับแสงจะเป็นปัจจัยหลักๆ ที่กำหนดระยะชัดลึก แต่ตัวกล้องก็สามารถช่วยให้คุณถ่ายภาพที่มีเอฟเฟกต์ Bokeh เบลอๆ ออกมาอย่างงดงามได้ด้วยเช่นกัน เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมเอื้อให้มีระยะชัดลึกที่ตื้นกว่าเซนเซอร์แบบครอบตัด

 

เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมจะตอบโจทย์การถ่ายภาพบุคคล การถ่ายภาพอาหาร และการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ ที่ใช้พื้นหลังเบลอๆ ที่สุด

 

รายละเอียดและความละเอียด

กล้องไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของภาพถ่าย แต่เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากคุณเป็นช่างถ่ายภาพโฆษณาหรือต้องการพิมพ์ภาพถ่ายออกมาในขนาดใหญ่ เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมจะช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพได้ตรงตามมาตรฐานสูงสุดในแง่ของความละเอียดและรายละเอียด จำนวนเมกะพิกเซลที่มากขึ้นยังหมายความว่า คุณจะสามารถครอบตัดภาพถ่ายออกได้จำนวนมากโดยที่ยังเหลือเฟรมภาพที่สามารถใช้งานได้อยู่

ภาพทิวทัศน์ภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะกลางป่าและทุ่งหญ้า

มุมมองภาพที่กว้างขึ้น

เนื่องจากเซนเซอร์แบบฟูลเฟรมไม่มีการครอบตัดภาพ “คุณจะสามารถถ่ายภาพในมุมมองที่กว้างขึ้นได้ด้วยเลนส์ของคุณ” Whitehouse ระบุ “หากคุณถ่ายภาพภูมิทัศน์หรือภาพใดๆ ที่ต้องอาศัยเฟรมกว้างๆ เช่น การถ่ายภาพอสังหาริมทรัพย์หรือสถาปัตยกรรม คุณก็ควรใช้กล้องฟูลเฟรม”

 

ข้อเสียของกล้องฟูลเฟรม

 

ราคาแพง

กล้องฟูลเฟรมได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชื่นชอบถ่ายภาพตัวยงและช่างภาพมืออาชีพ และราคาที่สูงขึ้นมาของกล้องประเภทนี้ก็มีสาเหตุเนื่องมาจากคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นมาอีกระดับเหล่านี้ ทั้งนี้อย่าลืมว่าหากคุณเลือกใช้กล้องฟูลเฟรม คุณย่อมจะต้องลงทุนไปกับเลนส์แบบฟูลเฟรมด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจมีราคาแพงเท่าๆ กับตัวกล้องหรือสูงกว่า

 

ขนาด

แม้จะมีการพัฒนาขนาดของตัวกล้อง Mirrorless ให้บางลงเรื่อยๆ แต่กล้องฟูลเฟรมนั้นมีขนาดใหญ่ในอีกระดับอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากขนาดของเซนเซอร์ หากคุณต้องการพกกล้องเพื่อเดินทางถ่ายภาพการท่องเที่ยว ถ่ายภาพ Street หรือถ่ายภาพเพื่อรายงานข่าว เลนส์และตัวกล้องฟูลเฟรมอาจพกไปไหนมาไหนด้วยได้ยาก

 

ไฟล์ขนาดใหญ่

จำนวนพิกเซลที่มากขึ้นย่อมหมายถึงไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น จึงหมายความว่าคุณจะต้องลงทุนไปกับพื้นที่จัดเก็บที่เหมาะสมสำหรับไฟล์ขนาดใหญ่เหล่านี้ ตั้งแต่การ์ดหน่วยความจำที่ประมวลผลเร็วกว่าเดิม ไปจนถึงพื้นที่เก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์หรือไดร์ฟสำรองข้อมูล

 

ข้อดีของกล้องเซนเซอร์แบบครอบตัด

 

ขนาดที่ใช้งานได้หลากหลาย

“หากคุณยังไม่พร้อมที่จะทุ่มงบซื้อกล้องฟูลเฟรม คุณก็ควรเริ่มจากการใช้เซนเซอร์แบบครอบตัด ซึ่งมีขนาดเล็กและเบากว่าอีกด้วย โดยกล้อง Mirrorless ที่มีเซนเซอร์แบบครอบตัดนั้นมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นหากคุณกำลังมองหากล้องที่พกพาง่าย เซนเซอร์แบบครอบตัดก็ถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม” Whitehouse อธิบาย

ภาพภูมิทัศน์เทือกเขาหินและป่าไม้

แฟกเตอร์การครอบตัด

แม้แฟกเตอร์การครอบตัดอาจถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของกล้องประเภทนี้ แต่คุณก็สามารถพลิกความสามารถในการขยายภาพนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณในสถานการณ์ต่างๆ ที่คุณจำเป็นต้องเข้าใกล้ตัวแบบให้ได้มากที่สุดได้ “ขนาดที่เล็กกว่าของเซนเซอร์แบบครอบตัดทำให้เลนส์ของคุณถ่ายภาพในระยะที่ใกล้มากขึ้น หากคุณถ่ายภาพสัตว์ป่าหรือกีฬา กล้องเซนเซอร์แบบครอบตัดจะช่วยให้คุณถ่ายภาพออกมาได้ดี” Silva อธิบาย

 

ข้อเสียของเซนเซอร์แบบครอบตัด

 

คุณภาพรูปภาพที่ต่ำลง

เซนเซอร์แบบครอบตัดไม่สามารถบันทึกข้อมูลในปริมาณที่เท่ากับกล้องฟูลเฟรมได้เนื่องจากขนาดที่เล็กกว่า แต่ในทางปฏิบัติ คุณอาจสังเกตเห็นข้อเสียนี้ได้ในบางสถานการณ์เท่านั้น เช่น ในสภาวะแสงน้อย และขณะที่เทคโนโลยีกล้องก้าวหน้าขึ้น ความแตกต่างด้านคุณภาพระหว่างเซนเซอร์แบบครอบตัดและแบบฟูลเฟรมก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ

 

ความยาวโฟกัสที่แคบลง

แฟกเตอร์การครอบตัดสามารถเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มความยาว Telephoto ของคุณ แต่ในทางกลับกันก็คือจะถ่ายภาพแบบ Wide-Angle ได้ยาก “เนื่องจากคุณซูมเข้าไปในภาพด้วยเซนเซอร์แบบครอบตัด การจะถอยมุมมองกลับออกมาจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” Silva อธิบาย “คุณจะต้องใช้เลนส์ Wide-Angle ที่กว้างมากๆ เพื่อถ่ายภาพรอบตัวคุณให้ครบเมื่อใช้กล้องเซนเซอร์แบบครอบตัด แต่การใช้เลนส์ที่กว้างขนาดนั้นก็จะส่งผลให้มีความบิดเบี้ยวสูง”

ภาพภูมิทัศน์เทือกเขาหินและป่าไม้

 

วิธีใช้กล้องทุกประเภทให้คุ้มค่าที่สุด

ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้กล้องประเภทไหน ต่อไปนี้คือแนวทางปฏิบัติส่วนหนึ่งที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อให้ถ่ายภาพออกมาได้ดีที่สุดด้วยอุปกรณ์ที่คุณมี

 

ลงทุนไปกับเลนส์ฟูลเฟรม

“ถ้าคุณจะใช้เซนเซอร์แบบครอบตัด สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อคุณที่สุดคือการลงทุนไปกับเลนส์ฟูลเฟรม” Silva แนะนำ “ท้ายที่สุดแล้ว เลนส์นี้จะมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” คุณค่าของเลนส์มักคงอยู่ยาวนานกว่าตัวกล้อง รวมทั้งมีบทบาทเท่าๆ กันกับตัวกล้องในการกำหนดคุณภาพรูปภาพที่ถ่ายจากกล้องของคุณ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

 

Whitehouse ระบุว่า “คุณสามารถใช้เลนส์ฟูลเฟรมกับเซนเซอร์แบบครอบตัดได้ แต่จะไม่สามารถนำเซนเซอร์แบบครอบตัดมาใช้กับเลนส์ฟูลเฟรม” หากคุณต้องการประหยัดเงินโดยการเลือกซื้อเซนเซอร์แบบครอบตัดแต่คิดว่าอาจอัปเกรดไปใช้เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมในภายหลัง การลงทุนกับเลนส์ที่มีคุณภาพเสียตอนนี้จะเป็นตัวเลือกที่ใช้เงินน้อยกว่าในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถยกระดับอุปกรณ์ของคุณได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องขายและซื้ออุปกรณ์แพงๆ มาแทน

 

ถ่ายภาพในโหมดรอว์

ไฟล์รอว์ที่ไม่ได้ผ่านการบีบอัดจะจับข้อมูลได้มากกว่าไฟล์ JPG ที่ถูกบีบอัดอย่างมาก แต่ข่าวดีก็คือคุณสามารถถ่ายภาพในโหมดรอว์ได้ด้วยทั้งกล้องเซนเซอร์แบบครอบตัดและแบบฟูลเฟรม คุณควรถ่ายภาพในโหมดรอว์ในทุกๆ ครั้งที่สามารถทำได้ เพื่อให้ภาพถ่ายของคุณมีคุณภาพดีที่สุด ไฟล์รอว์ช่วยให้คุณสามารถกู้คืนไฮไลต์และเงากลับคืนมาได้ในขั้นตอนหลังการถ่ายภาพ โดยที่ไฮไลต์และเงาเหล่านี้จะสูญหายไปเลยหากใช้ไฟล์ JPG

 

กล้องไม่ได้บ่งบอกถึงฝีมือของช่างภาพ

ท้ายที่สุดแล้ว กล้องก็เป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่ง เหมือนกับที่พู่กันเป็นเครื่องมือสำหรับจิตรกร คุณสามารถถ่ายภาพให้ออกมาดูดีได้โดยไม่ว่าใช้จะโทรศัพท์ Smartphone หรือกล้อง Leica ราคาหลายแสน ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการถ่ายภาพขึ้นอยู่กับสายตาของคุณในฐานะช่างภาพ ลองคำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำหรับภาพที่สวยงาม เช่น แสง องค์ประกอบภาพ สี และ Contrast แล้วคุณจะสามารถถ่ายภาพที่ดีได้ ไม่ว่าคุณจะมีกล้องอะไรอยู่ในมือก็ตาม

 

 

เซนเซอร์ที่เหมาะกับคุณคือขนาดใด

แม้เซนเซอร์แบบฟูลเฟรมนั้นแทบจะถือว่าเป็นมาตรฐานวงการในเกือบทุกกรณีสำหรับช่างภาพมืออาชีพ แต่ก็มีก็กล้องดีๆ ให้เลือกอยู่มากมาย การตัดสินใจเลือกระหว่างเซนเซอร์สองประเภทนี้จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและเป้าหมายของช่างภาพแต่ละคน

 

Whitehouse กล่าวว่า “กล้องที่ใช้เซนเซอร์แบบครอบตัดพัฒนาขึ้นดีเสียจนคุณภาพของรูปภาพไม่อาจเป็นเหตุผลเดียวที่เพียงพอที่จะทำให้หันไปเลือกกล้องฟูลเฟรมแทน” ในหลายๆ กรณี กล้องฟูลเฟรมอาจมีคุณสมบัติเกินความต้องการของคุณ อย่างน้อยก็สำหรับตอนนี้ คุณควรทราบว่าคุณต้องการอะไร แล้วจึงชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียของแต่ละตัวเลือก

 

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประเมินว่าคุณจะถ่ายภาพอะไร” Whitehouse แนะนำ “หลายคนถ่ายภาพด้วยกล้องฟูลเฟรมโดยไม่จำเป็น กล้องเซนเซอร์แบบครอบตัดถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเนื่องจากคุณจะได้ภาพถ่ายในคุณภาพที่ยอดเยี่ยมในราคาที่ต่ำกว่า”

 

ทีนี้เมื่อคุณทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับขนาดของเซนเซอร์แล้ว คุณก็พร้อมเลือกกล้องที่ตอบโจทย์สไตล์ของคุณที่สุด โปรดอย่าลืมว่าข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคนั้นถือว่ามีความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป หากกล้องตัวไหนจุดประกายให้คุณอยากออกไปถ่ายภาพ กล้องตัวนั้นก็เป็นกล้องที่เหมาะสำหรับคุณ

ผู้มีส่วนร่วม

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom

แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์

และคุณอาจสนใจ...

ภาพเมืองญี่ปุ่นยามค่ำคืน - เคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืน | Adobe

การถ่ายภาพกลางคืน
แสงน้อยไม่ได้ทำให้ภาพมีคุณภาพต่ำเสมอไปด้วยเคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืนให้ดูดีเหล่านี้

ไอคอน Adobe Photoshop Lightroom และ Adobe Photoshop ที่ซ้อนทับอยู่บนรูปภาพ

Lightroom เทียบกับ Photoshop: ควรเลือกใช้โปรแกรมแก้ไขภาพใดตอนไหน

เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างโปรแกรมแก้ไขภาพถ่ายชั้นนำในวงการเหล่านี้ และค้นพบเวิร์กโฟลว์การแก้ไขที่เหมาะสำหรับคุณ

ผู้ช่วยฝ่ายการถ่ายทำกำลังเตรียมนางแบบให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพโฆษณา

เริ่มต้นการถ่ายภาพโฆษณา

เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพโฆษณา และรับเคล็ดลับในการทำงานร่วมกับลูกค้าและการแก้ปัญหาในการถ่ายภาพของคุณ

กล้องดิจิทัลและอุปกรณ์เสริมกล้องดิจิทัล

พื้นฐานกล้อง DSLR
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของกล้องดิจิทัลประเภทนี้

Lightroom

แผน Lightroom

แก้ไข จัดระเบียบ จัดเก็บ และแบ่งปันภาพถ่ายได้จากทุกที่
ใช้งานฟรี 7 วัน จากนั้น ฿380.92/เดือน

Lightroom
Photoshop

การถ่ายภาพ

รับ Lightroom, Lightroom Classic, Photoshop และเนื้อที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ 20 GB ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น฿304.95/เดือน.(รวม VAT)

Lightroom

All Apps

รับคอลเลกชันแอปสร้างสรรค์ทั้งหมดและอีกมากมาย
ทดลองใช้ฟรี 7 วัน จากนั้น ฿1,143.83/เดือน (รวม VAT)