เข้าใจว่าเราเล่าเรื่องผ่านภาพด้วยจุดดึงความสนใจได้อย่างไร

เจาะลึกกลวิธีต่างๆ ในการนำสายตาของผู้ชมไปยังจุดที่ต้องการให้เด่นที่สุดในภาพ ดูเคล็ดลับในการดึงดูดผู้ชมและเล่าเรื่องราว   

เด็กกำลังปั่นจักรยานเบื้องหน้าพระอาทิตย์ตกพอดี

ภาพโดย Andrew Griswold

ดึงดูดและสะกดความสนใจของผู้ชมด้วยหลักการทางศิลปะและการออกแบบ

สมมติว่าคุณนั่งอยู่ริมสนามโดยมีกล้องในมือ กำลังมองสุนัขคอร์กี้สองตัวกำลังต้อนแกะไปทางประตูที่เปิดอยู่ วิธีการจัดองค์ประกอบของคูณจะส่งผลต่อเรื่องราวที่ภาพของคุณเล่า ซูมเข้าไปที่พวกสุนัขเพื่อแสดงอารมณ์เข้มข้นและความมุ่งมั่น ถ่ายภาพฝูงแกะที่กระจัดกระจายอยู่โดยเห็นประตูอยู่ไกลออกไปเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงานและสภาพแวดล้อมอันเวิ้งว้าง ใช้เลนส์ยาวเพื่อโฟกัสคลื่นความร้อน เน้นให้เห็นสภาพอากาศรุนแรงในขณะที่สุนัขทำงาน

 

กลวิธีเหล่านี้คือตัวอย่างการใช้จุดดึงความสนใจในการถ่ายภาพ จุดดึงความสนใจจะดึงดูดและสะกดผู้ชมไว้กับภาพของคุณนานพอที่จะบอกเล่าเรื่องราวของคุณได้ โดยเพิ่มน้ำหนักในภาพไปที่ตัวแบบหลักและบอกให้ผู้ใช้ทราบว่าควรโฟกัสที่ส่วนใดในภาพ การใช้จุดดึงความสนใจในภาพต่างจากการถ่ายภาพสารคดีซึ่งเผยให้เห็นมุมมองที่ไร้การปรุงแต่งของสิ่งต่างๆ ตรงที่มักจะจงใจเลือกจุดศูนย์กลางของความสนใจมาเป็นตัวกำหนดเรื่องราว

 
“ส่วนใหญ่แล้วผมจะถ่ายภาพระหว่างเดินทาง” ช่างภาพ Jonathan Lo กล่าว "มีหลายครั้งที่เราอยากจะบันทึกสิ่งที่อาจหายไปในภาพระยะไกล ผมคิดว่าเมื่อดึงความสนใจของผู้คนไปที่สิ่งต่างๆ และเก็บภาพด้วยกลวิธีหนึ่งๆ คุณจะสามารถบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในชั่วขณะนั้นได้"

วิธีดึงความสนใจไปยังตัวแบบหลักของคุณ

ความเข้าใจในการจัดองค์ประกอบภาพจะช่วยให้คุณดึงความสนใจไปยังจุดที่ต้องการได้ เราใช้หลักการเดียวกันนี้กับทัศนศิลป์หลายแขนง รวมถึงการออกแบบกราฟิกและวิจิตรศิลป์ เป็นหลักการที่ใช้ได้ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องดิจิทัลหรือ SLR

     

การจัดองค์ประกอบคือลักษณะการวางองค์ประกอบที่ปรากฏในภาพถ่าย รวมถึงตัวแบบหลักด้วย ความรู้ในด้านเทคนิค เช่น เข้าใจ ISO หรือความเร็วชัตเตอร์ อาจช่วยให้คุณถ่ายภาพที่มีแสงสวยงามได้ แต่ความรู้เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบจะช่วยให้คุณสามารถดึงผู้ชมเข้าไปอยู่ในภาพได้ "สิ่งที่ผมมองหาเสมอคือแสง การจัดองค์ประกอบ และเนื้อหา" ช่างภาพ Andrew Griswold เห็นด้วยในเรื่องนี้ "ถ้าอย่างหรือสองอย่างที่ว่ามาดี คุณจะได้ภาพชั้นดี แต่ถ้าผสมผสานทั้งสามอย่างเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ คุณจะได้ภาพชั้นเยี่ยม"

     

องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้คุณถ่ายทอดเรื่องราวที่คุณต้องการในภาพแนวตั้งหรือแนวนอน และหลายๆ อย่างก็ใช้ได้ไม่ว่าจะในภาพสีหรือขาวดำ

แสง

ส่องแสงไปที่ตัวแบบหรือฉายเงาลงบนพื้นที่อื่นในภาพ พื้นที่มืดๆ จะเพิ่มอารมณ์หรือความลึกลับให้ภาพของคุณได้ เงาจะช่วยเพิ่มมิติให้ภาพ

พื้นผิว

ใช้พื้นผิวที่น่าสนใจให้ถูกจุดในบริเวณที่คุณต้องการให้ผู้ชมมอง โดยมีพื้นผิวที่เรียบกว่าเป็นพื้นหลัง ความแตกต่างจะดึงดูดความสนใจ

ภาพมองตรงขึ้นไปเห็นด้านล่างของเครื่องบินรบรุ่นเก่าบนฟ้า

ภาพโดย Bernard Antolin

มุม

มุมต่างๆ ของแบบ รวมถึงมุมกล้องที่ต่างกันไปสามารถดึงความสนใจมาที่ตัวแบบของคุณในหลายๆ ด้านเมื่อถ่ายภาพบุคคล การถ่ายมุมตรงเป็นการนำพาผู้ชมเข้าไปอยู่ในฉาก ส่วนมุมข้างจะสร้างความรู้สึกราวกับเป็นผู้เห็นเหตุการณ์กำลังมองฉากเด็ด ตัวแบบจะดูเล็กเมื่อถ่ายจากด้านบนและดูเด่นหรือใหญ่กว่าความเป็นจริงเมื่อถ่ายจากด้านล่าง ส่วนมุมเอียงอาจสื่อถึงลางร้ายหรือความขี้เล่น

กฎสามส่วน

ใช้กฎสามส่วนเพื่อวางส่วนหลักหรือส่วนสำคัญของตัวแบบที่จุดตัดของเส้นตารางสามคูณสามซึ่งแบ่งภาพเป็นช่องที่มีขนาดเท่ากัน "ใครก็พูดถึงกฎสามส่วน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นฟีเจอร์หนึ่งในตัวกล้องบนมือถือแล้ว" Griswold กล่าว "การใช้ตารางสามส่วนนี้อย่างเต็มที่และลองหาลูกเล่น คุณจะสามารถทำอะไรใหม่ๆ และชี้นำสายตาของผู้ชมได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น" ภาพที่ทุกอย่างสมมาตรกันอาจดูเข้าทีในบางครั้ง แต่การวางตัวแบบไว้ด้านข้างหรือที่มุมหนึ่งจะทำให้ดูน่าสนใจขึ้น

ระยะชัดลึก

ใช้ระยะชัดลึกที่ตื้นเพื่อให้ภาพโฟกัสที่ตัวแบบหลักเท่านั้น "ผมคิดว่าเมื่อคุณต้องถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ ระยะชัดลึกจะมีบทบาทมาก" Lo กล่าว "ค่านี้สำคัญกับการถ่ายภาพ Lifestyle ด้วย องค์ประกอบในพื้นหลังไม่ควรเด่นแข่งกับตัวแบบหลักที่อยู่ด้านหน้าระยะชัดลึกจะช่วยเบลอพื้นหลัง โดยรักษาพื้นผิวไว้แต่ไม่ดึงสายตา"

ระยะ

เว้นระยะระหว่างตัวแบบกับองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพ หรือขยับกล้องเข้าไปใกล้ตัวแบบ (หรือซูม) เพื่อปรับจุดดึงความสนใจในภาพใช้เลนส์ Telephoto ในการถ่ายภาพภูมิทัศน์เมื่อคุณต้องการเน้นภูเขาที่ตั้งตระหง่านในฉาก

โฟกัส

สิ่งหลักที่อยู่ในโฟกัสต้องเป็นตัวแบบของคุณเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมได้ง่ายๆ เมื่อเบลอพื้นหลังของภาพให้เกิดเอฟเฟกต์ Bokeh จะไม่มีอะไรมาแย่งชิงความสนใจกับตัวแบบที่อยู่ในโฟกัส

ความต่างระดับสี ความชัดเจน และความคมชัด

คุณสามารถใช้ความต่างระดับสี ความชัดเจน และความคมชัดเพื่อทำให้ตัวแบบเด่นขึ้นได้ภาพ Silhouette โดยสมบูรณ์จะใช้ความต่างระดับสีโดยวางตัวแบบไว้ด้านหน้าพื้นหลังที่มีแสง 

พื้นที่สีขาวและสไตล์ Minimal

ใช้พื้นที่สีขาว (หรือ Negative Space) เพื่อให้ภาพมีสไตล์ Minimal ที่ตัวแบบเป็นสิ่งเดียวที่จะดึงสายตาไปได้โดยไม่มีสิ่งอื่นใดดูรกตา

ภาพมองตรงขึ้นไปเห็นด้านล่างของเครื่องบินรบรุ่นเก่าบนฟ้า

ภาพโดย Andrew Griswold

การครอบตัด

หากการจัดองค์ประกอบในกล้องยังไม่ดึงดูดสายตาอย่างที่คุณต้องการ คุณสามารถปรับแต่งได้เสมอ ครอบตัดภาพให้ดึงความสนใจไปยังจุดที่คุณต้องการเป็นพิเศษ

สี

สีที่ตัดกันระหว่างพื้นหลังและตัวแบบจะทำให้จุดโฟกัสดูเด่นขึ้น ใช้สีคู่ตรงข้ามในวงล้อสีเพื่อดึงสายตาผู้ชมไปยังตัวแบบหลัก เช่น เรือคายัคสีส้มในทะเลสาบสีฟ้าหรือเด็กหญิงชุดแดงนั่งบนผืนหญ้าสีเขียว การขับสีสันของตัวแบบเป็นเทคนิคที่ใช้กันมาแต่ช้านานแล้วเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมมายังตัวแบบในทันที โดยเฉพาะเมื่อคุณเปลี่ยนทุกอย่างในภาพเป็นสีขาวดำยกเว้นตัวแบบ

น้ำหนักภาพ

ตัวแบบของคุณควรมีพลังมากพอในภาพ โดยครอบคลุมพื้นที่ในภาพอย่างเหมาะสม "ทุกสิ่งทุกอย่างในภาพควรสมดุลกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถ่ายหรือคนรอบข้าง" ช่างภาพ Bernard Antolin กล่าว ตัวแบบที่ดูเล็กจะโดดเด่นเมื่อตัดกับฝูงชน หรือตึกสูงจะดูสะดุดตาเมื่อผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาดูเหมือนมดตัวเล็กๆ ที่ฐานตึก

การวางกรอบ

ใช้วัตถุอื่น รูปทรง หรือเส้นเป็นกรอบรอบตัวแบบ โดยอาจเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากหน้าต่างหรือประตูก็ได้ องค์ประกอบด้านหน้า เช่น กิ่งไม้หรือใบไม้ ซุ้มโค้งหรืออุโมงค์ หรือปล่องบันได ก็สามารถเป็นกรอบให้จุดศูนย์กลางความสนใจของคุณได้เช่นกัน

ภาพถ่ายจากอากาศเหนือหัวของคนกำลังจะดังก์ลูกบาสเกตบอลลงในห่วงที่สนาม

ภาพโดย Andrew Griswold

รูปทรง

รูปทรงคือรากฐานของภาพ ทำให้ผู้ชมสังเกตเห็นได้ว่ารูปทรงนั้นๆ ช่วยเสริมหรือสร้างสมดุลกับตัวแบบของคุณอย่างไร โดยคุณอาจใช้รูปทรงสามเหลี่ยมเป็นลูกศรชี้ไปยังจุดหนึ่งๆ หรือใช้วงกลมเพื่อเน้นตัวแบบในภาพได้

เส้นนำสายตา

เส้นแนวตั้ง แนวนอน แนวทแยง และเส้นที่บรรจบกันจะเป็นตัวนำสายตาของผู้ชมไปยังจุดที่คุณต้องการให้สนใจ "คนส่วนใหญ่อ่านจากบนซ้ายไปล่างขวา ซึ่งเป็นวิธีการทำงานตามธรรมชาติของสายตาและสมองมนุษย์ส่วนใหญ่" Griswold ตั้งข้อสังเกต "ผมสามารถใช้ลำแสงจากดวงอาทิตย์นำสายตาของผู้คนไปยังสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอได้"

เน้นที่ 4C

แม้อาจจะหลงลืมหลักการที่ว่ามาไปบ้าง คุณควรจำหลักการสำหรับจุดดึงความสนใจต่อไปนี้ไว้ให้ขึ้นใจ

     

สี (Color), การจัดองค์ประกอบ (Composition), การครอบตัด (Cropping) และความต่างระดับสี (Contrast)

ชิงช้าเด็กเล็กเหนือพื้นสีสด

ภาพโดย Jonathan Lo

ใช้สี่หลักการทางศิลปะนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสรรค์ภาพถ่าย เมื่อคุณคุ้นเคยขึ้นแล้ว จึงค่อยฝึกทักษะการถ่ายภาพอื่นๆ เพิ่มเติม โดยอาจจะเริ่มจากแสงซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดึงความสนใจในภาพถ่าย

      

"แสงสามารถทำให้วัตถุที่ดูน่าเบื่อมากสะดุดตาขึ้นมาได้" Antolin ตั้งข้อสังเกต "หากจัดวางตำแหน่งและแสงของวัตถุอย่างเหมาะสม ก็ไม่ต้องปรับอะไรเพิ่มอีกมากมายแล้ว" 

ยิ่งฝึกยิ่งชำนาญ

หลักการทั้งหมดที่กล่าวมาช่วยให้การจัดองค์ประกอบภาพและการกำหนดจุดดึงความสนใจดีขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลากว่าจะสมบูรณ์แบบ ระหว่างที่คุณฝึกมองจุดดึงความสนใจให้ออก ลองใช้กลยุทธ์เหล่านี้ 

 

  • ฝึกฝนสายตาของคุณให้จับชั่วขณะที่คุณสามารถดึงจุดความสนใจไปยังบางสิ่งบางอย่างได้ แม้ว่าคุณไม่มีกล้องอยู่ในมือ
     
  • หากคุณคิดอะไรไม่ออก ลองถอยออกมาดูว่าองค์ประกอบใดที่แข่งกันเองเพื่อดึงความสนใจ แล้วปรับให้เหมาะสม เดินไปรอบๆ เพื่อหามุมถ่ายที่ต่างออกไป
     
  • หากคุณไม่แน่ใจว่าน้ำหนักภาพอยู่ตรงไหนหรือจุดที่โดดเด่นที่สุดในภาพอยู่ตรงไหน เปลี่ยนภาพเป็นโทนเกรย์สเกลแล้วดูว่าส่วนไหนที่คุณสนใจเป็นส่วนแรก

 

"ถ้าเป็นเรื่องการจัดองค์ประกอบ ผมว่ายิ่งคุณลงมือถ่ายไปเรื่อยๆ คุณก็จะเข้าใจเองเมื่อเวลาผ่านไป" Antolin กล่าว "ถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และค้นหาสไตล์ของคุณเอง"    

     

ไม่ว่าคุณจะต้องการถ่ายภาพประเภทใด ลองใช้หลักการและกลยุทธ์เหล่านี้ที่อยู่เบื้องหลังเทคนิคจุดดึงความสนใจ แล้วในไม่ช้าคุณจะสามารถเล่าเรื่องที่ดึงดูดผู้คนผ่านภาพได้

ผู้มีส่วนร่วม

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom

แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์

และคุณอาจสนใจ...

ภาพนิ่งของดอกแดฟโฟดิลสีเหลืองที่กำลังบานในสภาวะที่แสงน้อย

ศิลปะแห่งการถ่ายภาพนิ่ง

พัฒนาทักษะการจัดองค์ประกอบภาพของคุณด้วยการเรียนรู้ศิลปะแห่งการถ่ายภาพนิ่ง

กำแพงอิฐของอาคาร

ค้นพบรูปทรงที่ซ่อนอยู่ด้วยการถ่ายภาพรูปทรงเรขาคณิต

เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นลวดลายเรขาคณิตในทุกสิ่งรอบตัวเรา

ช่างภาพกำลังเตรียมอุปกรณ์

เทคนิคและไอเดียการถ่ายภาพแบบ DIY

เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับโปรเจกต์ถ่ายภาพด้วยคำแนะนำจากช่างภาพมืออาชีพ

ไอคอน Adobe Photoshop Lightroom และ Adobe Photoshop ที่ซ้อนทับอยู่บนรูปภาพ

Lightroom เทียบกับ Photoshop: ควรเลือกใช้โปรแกรมแก้ไขภาพใดตอนไหน

เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างโปรแกรมแก้ไขภาพถ่ายชั้นนำในวงการเหล่านี้ และค้นพบเวิร์กโฟลว์การแก้ไขที่เหมาะสำหรับคุณ

Lightroom

แผน Lightroom

แก้ไข จัดระเบียบ จัดเก็บ และแบ่งปันภาพถ่ายได้จากทุกที่
ใช้งานฟรี 7 วัน จากนั้น ฿380.92/เดือน

Lightroom
Photoshop

การถ่ายภาพ

รับ Lightroom, Lightroom Classic, Photoshop และเนื้อที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ 20 GB ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น฿304.95/เดือน.(รวม VAT)

Lightroom

All Apps

รับคอลเลกชันแอปสร้างสรรค์ทั้งหมดและอีกมากมาย
ทดลองใช้ฟรี 7 วัน จากนั้น ฿1,143.83/เดือน (รวม VAT)