วิธีใช้และแหกกฎสามส่วน
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการจัดองค์ประกอบภาพ รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ เพื่อพัฒนาการถ่ายภาพของคุณ
“จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่กฎซะทีเดียว แต่เป็นคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมากกว่า” ช่างภาพและนักออกแบบ Shawn Ingersoll อธิบายเกี่ยวกับกฎสามส่วน
ทุกภาพดีๆ จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎสามส่วนทั้งหมดหรือไม่ แน่นอนว่าไม่อยู่แล้ว แต่ทุกๆ ทักษะและศิลปะทุกแขนงก่อขึ้นมาบนหลักการพื้นฐานบางประการ และการทำความเข้าใจหลักการเหล่านี้ให้เชี่ยวชาญก็สำคัญต่อการพัฒนาความสามารถของคุณ การฝึกฝนซ้ำๆ คือหัวใจสำคัญในการขัดเกลาทักษะพื้นฐานของคุณ การฝึกฝนนำไปสู่การจดจำของกล้ามเนื้อและการสร้างความไว้วางใจในสายตาของคุณ ซึ่งจะกลายเป็นสัญชาตญาณในท้ายที่สุดที่สามารถบอกคุณว่าการดำเนินการแบบไหนได้ผลดีและแบบไหนไม่ดีในการถ่ายภาพ
“ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ ทักษะก็จะฝังลงไปในหัวของคุณมากเท่านั้น”
“ถ้าคุณสังเกตดูภาพที่มองเห็นรอบตัว ฉันรู้สึกว่าคุณได้สัมผัสกับกฎสามส่วนไปแล้วแม้จะมองไม่ออกก็ตาม” ช่างภาพ นักเขียน และครูผู้สอนอย่าง Khara Plicanic แนะนำ “แต่กฎเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพและต้องการเครื่องมือที่สามารถใช้งานเพื่อช่วยจัดองค์ประกอบภาพได้จริง”
กฎสามส่วนคืออะไร
กฎสามส่วนถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดองค์ประกอบภาพที่จัดวางตัวแบบของคุณไว้ในพื้นที่สามส่วนด้านซ้ายหรือด้านขวาของรูปภาพ แล้วปล่อยให้พื้นที่อีกสองส่วนที่เหลือเปิดโล่ง แม้องค์ประกอบภาพจะมีรูปแบบอื่นๆ ด้วย แต่กฎสามส่วนมักจะช่วยนำไปสู่ภาพถ่ายที่น่าสนใจและมีการจัดองค์ประกอบที่ดี
หากคุณลองจินตนาการแล้วแบ่งภาพหรือแม้แต่ช่องมองภาพในกล้องของคุณออกเป็นเก้าส่วนเท่าๆ กันโดยใช้เส้นแนวทั้งและแนวนอน การแบ่งส่วนเช่นนั้นจะก่อเป็นช่องตามกฎสามส่วน ซึ่งเป็นการตั้งค่าที่คุณสามารถเลือกใช้ได้ในกล้องส่วนมาก รวมถึงกล้องบนโทรศัพท์ของคุณด้วย
“ตัวอย่างนี้อาจจะขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วย แต่ถ้าคุณลองนึกถึงอินโทรในเรื่อง The Brady Bunch ที่มีช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเก้าช่องอย่างเท่าๆ กัน” Ingersoll อธิบาย “ช่องเหล่านี้มีขนาดเท่ากันทั้งหมดและเรียงเป็นสามแถวกับสามคอลัมน์”
ซึ่งหมายความว่ามุมต่างๆ ของช่องกึ่งกลางคือจุดตัดในตารางที่คุณควรโฟกัสภาพในช็อตของคุณ ตารางนี้เรียกว่ากฎสามส่วน แต่คุณอาจพิจารณาว่าเป็นการวาดเส้นกากบาทสี่เส้นเพื่อใช้กำหนดเป้าหมายองค์ประกอบสำคัญๆ ในช็อตได้ด้วยเช่นกัน เทคนิคนี้จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความสมดุลระหว่างตัวแบบหลักและ Negative Space โดยรอบในภาพ เพื่อจัดองค์ประกอบภาพที่สามารถดึงดูดสายตาผู้รับชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำแนะนำจากประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการใช้กฎสามส่วน
การฝึกใช้กฎสามส่วนซ้ำๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจกฎและขัดเกลาทักษะของคุณ แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง เส้นตารางและจุดที่เส้นตัดกันจะฝังลงไปในสมองของคุณเอง แต่ระหว่างนี้ ลองดูเคล็ดลับการถ่ายภาพบางส่วนจากช่างภาพมืออาชีพที่สามารถช่วยขับเคลื่อนการทดลองถ่ายภาพของคุณไปในทิศทางที่เหมาะสมได้
1. ฝึกฝนด้วยตารางตามกฎสามส่วนในกล้องของคุณ: “เปิดการตั้งค่านี้เพื่อให้คุณสามารถมองเห็นกฎสามส่วนขณะที่ถ่ายภาพได้” Plicanic แนะนำ “และในท้ายที่สุด คุณก็จะคุ้นเคยไปเอง”
2. ออกไปถ่ายภาพโดยใช้กฎสามส่วน: “ออกไปที่สวนสาธารณะหรือที่ไหนก็ได้ แล้วลองถ่ายภาพดีๆ มาสักสิบภาพที่เป็นไปตามกฎสามส่วน” ช่างภาพงานแต่งงาน Anna Goellner อธิบาย “ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ ทักษะก็จะฝังลงไปในหัวของคุณมากเท่านั้น”
3. จับจ้องไปที่ดวงตา: “เลือกว่าคุณต้องการโฟกัสที่จุดใดก่อนที่คุณจะถ่ายภาพ ฉันมักจะเลือกโฟกัสที่ดวงตาเสมอ” นักเขียนและช่างถ่ายภาพสัตว์ Carli Davidson เล่า
แหกกฎสามส่วน
กฎสามส่วนอาจไม่ใช่หลักการที่มีข้อกำหนดตายตัว แต่การแหกกฎจากแนวทางเชิงศิลปะเช่นนี้อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับช่างภาพมือใหม่ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนว่าช่างภาพมือโปรโยนกฎทิ้งไปเมื่อไหร่และอย่างไร
1. เติมเต็มเฟรม: “การถ่ายภาพให้เต็มเฟรมเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในกรณีที่มีบางส่วนของภาพที่ไม่ได้อยู่ในเฟรมอย่างครบถ้วน หรือเมื่อตัวแบบอยู่ด้านหน้าสุดในเฟรม” อาร์ตไดเรกเตอร์และช่างภาพอย่าง Alex Tan เล่า “ผมคิดว่าในกรณีแบบนี้ คุณอาจโยนกฎสามส่วนทิ้งไปได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เปลี่ยนมาถ่ายภาพผู้คนโดยจัดวางให้ผู้คนอยู่กึ่งกลางภาพไปเลย”
2. ถอยห่างจากตัวแบบ: “ถ้าตัวแบบของคุณคือส่วนเล็กๆ ในภาพ” ช่างภาพ Derek Boyd แนะนำ “ทางเลือกที่ดีที่สุดในบางครั้งในการถ่ายภาพเน้นตัวแบบให้เด่นชัด คือการแหกกฎสามส่วนแล้วจัดตำแหน่งให้ตัวแบบอยู่กึ่งกลางภาพ”
3. ลองใช้องค์ประกอบภาพหลากหลายสไตล์: “การจัดองค์ประกอบภาพในรูปทรงตัว Z จะสร้างเส้นที่น่าสนใจเพราะปกติแล้วคุณเคลื่อนสายตาไปบนหน้ากระดาษตามเส้นดังกล่าว” ช่างภาพ Sarah Aagesen อธิบาย “แนวคิดคือ เส้นนี้จะดึงดูดสายตาของคุณจากซ้ายไปขวา จากนั้นลงล่างผ่านภาพ แล้วจึงกลับไปอีกครั้ง”
4. ถ่ายภาพหลายๆ ช็อต: “ถ่ายภาพโดยให้ตัวแบบของคุณอยู่กึ่งกลางภาพ ถ่ายอีกภาพโดยที่ตัวแบบอยู่ด้านขวาบน แล้วถ่ายอีกภาพโดยที่ตัวแบบอยู่มุมซ้ายบน” Boyd แนะนำ “แม้คุณจะคิดว่าถ่ายภาพได้ตามที่ต้องการแล้วในภาพแรก คุณก็ควรถ่ายภาพเพิ่มอีกสองหรือสามภาพเสมอ แล้วคุณจะสามารถเลือกภาพที่ดีกว่าได้ในภายหลัง”
ไม่ต้องกังวลไป คุณแก้ไขภาพในภายหลังได้เสมอ
การถ่ายภาพให้ได้ตามที่ต้องการด้วยกล้องถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากคุณจะมองเห็นรายละเอียดภาพในฉากได้มากกว่า หลังจากที่คุณถ่ายภาพเสร็จแล้ว คุณจะไม่สามารถกลับไปถ่ายภาพช่วงเวลาเดิมอีกครั้งได้ แต่โชคดีที่เทคโนโลยีช่วยให้คุณสามารถแก้ไของค์ประกอบตามกฎสามส่วนได้หลังจากถ่ายภาพไปแล้ว
“ฉันใช้ Lightroom เพื่อแก้ไขทุกอย่างแบบเร็วๆ” Davidson อธิบาย “ฉันเปิดเครื่องมือแล้วครอบตัดส่วนต่างๆ ออก ฉันสามารถเห็นว่าองค์ประกอบต่างๆ ส่งผลต่อภาพอย่างไรแล้วจึงพลิกแพลงกฎสามส่วน เครื่องมือนี้เหมาะสำหรับการแต่งภาพอย่างมาก”
ขณะที่คุณแก้ไขภาพ คุณจะได้ฝึกฝนทักษะของคุณอีกครั้ง ซึ่งเป็นการพิจารณาและการใช้กฎสามส่วนซ้ำไปซ้ำมา ในช่วงแรกเริ่ม คุณอาจมองไม่ค่อยออกว่าภาพใดบ้างที่เหมาะจะใช้กฎสามส่วน แต่เมื่อผ่านการฝึกฝน ทักษะนี้จะกลายเป็นสิ่งที่คุณตัดสินใจได้โดยที่ไม่ต้องฉุกคิดเลยด้วยซ้ำ คุณจะรู้ได้ในทันที ดังนั้นลงมือฝึกฝน ซึ่งจะช่วยพัฒนาสายตาและช่วยให้ผู้ที่รับชมภาพของคุณรู้สึกพอใจ
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom
แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์
และคุณอาจสนใจ...
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์
ค้นพบว่าการปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ชัดเจนได้หรือจับภาพช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวได้อย่างไร
ทำความเข้าใจระยะชัดลึกที่ตื้น
สำรวจวิธีที่ระยะชัดลึกที่ตื้นสามารถเพิ่มมิติให้ภาพถ่ายของคุณ
ค้นพบวิธีเลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่ายแต่ละภาพ
สร้างภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
สำรวจวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างมีศิลปะพร้อมเคล็ดลับในการถ่ายภาพทิวทัศน์