หลักพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ

ดึงความสนใจของผู้ชมด้วยเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริง ซึ่งแสดงให้คุณเห็นว่าควรจัดวางตัวแบบหลักไว้ในตำแหน่งใด

องุ่น ส้มฝาน และแก้วใส่น้ำที่วางอยู่บนโต๊ะ

การจัดองค์ประกอบภาพถ่ายคืออะไร

การจัดองค์ประกอบภาพถ่ายคือวิธีการที่ช่างภาพจัดวางทัศนธาตุให้อยู่ในเฟรม "มันคือการจัดระเบียบวัตถุต่างๆ ที่อยู่ภายในรูปสี่เหลี่ยมให้ออกมาน่ามอง" ช่างภาพ Adam Long กล่าว การใส่ตัวแบบหรือฉากลงในพื้นที่ว่างอาจฟังดูง่าย แต่ไม่ง่ายเลยสักนิดเดียว การจัดองค์ประกอบในภาพถ่ายมักเป็นเรื่องยากและเป็นสิ่งสำคัญเสมอ "ทุกอย่างสามารถดูสมบูรณ์แบบได้ ทั้งการจัดแสง สถานที่ เสื้อผ้า การแต่งหน้าทำผม ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม" ช่างภาพ Grace Rivera กล่าว "แต่ถ้าการจัดองค์ประกอบภาพของคุณไม่ได้เรื่องก็จะทำให้ภาพออกมาไม่ดี" 

 

กฎในการจัดองค์ประกอบ

การจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดีต้องใช้มากกว่าแค่การเน้นไปที่ตัวแบบหลักของคุณ เทคนิคเหล่านี้คือเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพต่างๆ ส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยสำหรับช่างภาพที่ต้องการสร้างภาพถ่ายที่ดูน่าสนใจ

คนยืนอยู่ท่ามกลางผ้าสีน้ำเงินที่ปลิวไปตามลม
ภาพถ่ายทางอากาศของทะเลและชายหาดที่สมดุล
  • ใช้กฎสามส่วน

กฎสามส่วนคือวิธีที่ใช้แบ่งเฟรมออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ได้องค์ประกอบที่เหมาะสมที่สุด กฎสามส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งเฟรมที่อยู่ระหว่างเส้นกริดสองเส้นที่มีระยะห่างเท่ากันทั้งในแนวตั้งและแนวนอนออกเป็นส่วนๆ ให้มีขนาดเท่ากัน ซึ่งทำให้เกิดตารางกริดขนาดสามคูณสามขึ้นมา เพื่อสร้างความสมดุลและความลื่นไหลภายในรูปภาพ ส่วนประกอบในการจัดองค์ประกอบภาพควรจะวางอยู่ตรงบริเวณที่เส้นกริดตัดกันหรือบริเวณที่เส้นกริดแบ่งรูปภาพออกเป็นส่วนๆ การใช้กฎสามส่วนมีแนวโน้มที่จะทำให้รูปภาพออกมาดูน่าสนใจมากกว่าวางตัวแบบไว้ตรงกลางเฉยๆ "คุณอยากกวาดตาไปทั่วรูปภาพแล้วก็เจอสิ่งต่างๆ อยู่กับเจ้าสามส่วนนี้" Long กล่าว ภาพถ่ายที่มีส่วนประกอบที่น่าสนใจอยู่แค่ในส่วนเดียวของภาพมักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับภาพถ่ายที่มีความน่าสนใจตั้งแต่บนจรดล่างและตั้งแต่ด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

 

  • ทำให้รูปภาพสมดุล

ความสมดุลเกี่ยวข้องกับความสมมาตร แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน รูปภาพที่สมดุลไม่จำเป็นที่จะต้องดูเหมือนกันทั้งซ้ายทั้งขวาหรือดูเหมือนกันหมดเมื่อไล่มองจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ส่วนต่างๆ ของรูปภาพที่แตกต่างกันจะช่วยเติมเต็มความงามให้กันและกันให้ออกมาน่ามองเสียมากกว่า สายตาของผู้ชมมักจะกวาดมองรูปภาพคร่าวๆ มองหาจุดที่น่าสนใจและสิ่งอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับจุดนั้น วัตถุที่เห็นเด่นชัดอาจจะดูสมดุลในอีกฝั่งหนึ่งของรูปภาพเนื่องจากพื้นที่ว่างที่ล้อมอยู่รอบวัตถุ "ถ้าคุณมีรูปภาพที่ดูซับซ้อนมากๆ ที่มีอะไรอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด รูปภาพนั้นก็อาจจะทำให้เราตอบสนองด้วยการเปรียบเทียบว่ามีอะไรในรูปที่เหมือนกันบ้างได้" Long กล่าว "ซึ่งอาจจะค่อนข้างทำให้รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา ความสับสน และชวนให้รำคาญในทางที่ดีได้"

คนกำลังนั่งอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยพรมและเบาะนั่งสีแดง
ดอกทิวลิปสองดอกชี้เข้าหากัน

สีสันที่ฉูดฉาดหรือสดใสมักจะเรียกร้องความสนใจและก่อให้เกิดความอลหม่านหรือซับซ้อน "ความเข้มของสีของสีสันต่างๆ จะต้องดึงดูดสายตาคุณแน่นอน" Long กล่าว "ถ้าผมอยากให้สิ่งหนึ่งดึงดูดสายตามากกว่า การเพิ่มความเข้มของสีหรือความส่องสว่างของวัตถุนั้นก็สามารถช่วยได้"

ภาพถ่ายที่ไม่สมดุลอาจดูสะเปะสะปะหรือดูเหมือนถ่ายโดยมือสมัครเล่น "เมื่อภาพถ่ายสูญเสียความสมดุลไป มันก็จะทำให้คนดูรู้สึกขัดตาขัดใจ" Long กล่าว "โดยส่วนใหญ่แล้วเราชอบความรู้สึกยามที่ตัวเราลื่นไหลไปกับภาพ" สิ่งที่อยู่ทางซ้ายต้องไปด้วยกันกับสิ่งที่อยู่ทางขวา และบางทีสิ่งต่างๆ อาจจะอยู่รอบๆ สิ่งที่อยู่ตรงกลางก็ได้ เช่นเดียวกับลางสังหรณ์เรื่องความงามหรือสัญชาตญาณที่ดีในเรื่องรูปภาพ การรับรู้ว่าสมดุลที่ดีเป็นอย่างไรเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน "ความสมดุลไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้" Long กล่าว "เมื่อคุณมองสิ่งต่างๆ คุณจะสัมผัสถึงสิ่งนี้ได้เอง" ยิ่งคุณถ่ายภาพมากขึ้นเท่าใด คุณก็จะยิ่งคุ้นชินว่าส่วนประกอบจะสอดประสานเข้ากันได้อย่างไร

 

  • นำเอาเส้นนำสายตา โฟกัส และระยะชัดลึกมาใช้ร่วมด้วย

การถ่ายภาพทำให้สามมิติกลายเป็นสองมิติ เพื่อรักษาความรู้สึกในเรื่องของพื้นที่และมิติ ช่างภาพจะต้องระวังว่าจะมีสิ่งใดอยู่ในภาพถ่ายและระวังว่าจะโฟกัสสิ่งนั้นอย่างไร

 

เส้นนำสายตาคือทัศนธาตุที่ดึงสายตาของผู้ชมให้มองไปที่ตัวแบบหรือจุดโฟกัส เส้นนำสายตาอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นถนนที่ทอดยาวออกไป แขนที่เอื้อมออกไปหาอะไรอย่างอื่น กิ่งไม้ที่เหยียดยื่นขึ้นไปหาดวงจันทร์ อะไรก็ตามที่ดึงความสนใจไปที่สิ่งอื่น เส้นเหล่านี้สามารถทำให้พื้นราบๆ ดูมีความลึก ดูมีมิติ และดูมีรูปร่างได้

 

โฟกัสและระยะชัดลึกยังช่วยเพิ่มภาพลวงตาที่เห็นเป็นสามมิติภายในภาพถ่ายอีกด้วย ระยะชัดลึกที่ตื้นสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ากำลังจดจ่ออยู่กับบางอย่างที่อยู่เบื้องหน้าผู้ชมในทันที และสิ่งนี้ทำให้เห็นถึงความลึกและขนาด แม้แต่ในรูปถ่ายที่ดูแบนราบ

นักว่ายน้ำกำลังลอยตัวอยู่ในสระ
  • ค้นหามุมมองที่เหมาะสม

หากคุณต้องการพลิกแพลงการจัดองค์ประกอบภาพ ลองขยับไปรอบๆ ดูสิ แค่เปลี่ยนมุมมองก็สามารถส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมกับภาพถ่ายธรรมดาได้แล้ว "ทุกอย่างที่เรากำลังทำก็คือเลือกที่จะตัดอะไรออกหรือใส่อะไรเข้าไป" Long กล่าว

 

พลิกแพลงเรื่องการเว้นที่ว่างและระยะห่างจากตัวแบบ "ฉันขยับตำแหน่งไปรอบๆ บ่อยมากเลย" Rivera กล่าว "ฉันขยับตำแหน่งลงไปอยู่ต่ำมากๆ หรือขึ้นไปสูงมากๆ ฉันมองเห็นได้ว่ามันจะเป็นยังไงถ้าฉันไปอยู่ใต้ตัวแบบหรือเห็นได้ว่ามันจะเป็นยังไงถ้าตัวแบบขยับจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง" ขยับเข้าไปใกล้ ถอยห่างออกมา และย้ายที่เพื่อหาวิธีการวางกรอบรอบตัวแบบอย่างที่คุณต้องการ

 

อย่างสุดท้าย เมื่อคุณกำลังจัดองค์ประกอบภาพถ่ายของคุณ ให้นึกอยู่เสมอว่าสุดท้ายแล้วจะนำรูปภาพไปใช้อย่างไร "อาจจะมีตัวอักษรวางอยู่บนรูปภาพ หรืออาจจะใช้ภาพเป็นหน้าปกนิตยสาร" Rivera กล่าว ตอนที่คุณกำลังจัดเตรียมภาพถ่าย ให้เปิดพื้นที่ไว้สำหรับส่วนประกอบพิเศษที่อาจจะได้รับการเพิ่มเข้ามา และพยายามนึกภาพส่วนประกอบเหล่านี้ไว้ในใจในขณะที่คุณกำลังมองผ่านช่องมองภาพ

มือที่กำลังถือดอกไม้บาน
  • ปรับปรุงการจัดองค์ประกอบภาพให้ดีขึ้นด้วยการครอบตัดหลังการถ่ายภาพ

หากการจัดองค์ประกอบของภาพถ่ายดูผิดเพี้ยนไปนิดหน่อย การปรับปรุงภาพถ่ายให้ดีขึ้นหลังการถ่ายภาพมักเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ด้วยการครอบตัดแบบรวดเร็ว ภาพถ่ายอาจไม่ได้วางกรอบรอบตัวแบบในรูปแบบที่เหมาะสมนัก แต่เพียงแค่ย้ายขอบของเฟรม คุณก็สามารถพบรูปภาพดีๆ ที่ในรูปภาพที่ดูธรรมดาได้อยู่บ่อยๆ

 

ตอนที่กำลังไล่ดูรูปภาพเก่าๆ ลองมองภาพเหล่านั้นจากมุมหรือมุมมองที่แตกต่างออกไปดู "พลิกแพลงด้วยการหมุนรูปภาพ" Rivera กล่าว "เมื่อคุณครอบตัดภาพ คุณสามารถหมุนภาพ พลิกภาพ หรือจับภาพให้พลิกกลับหัวได้ และคุณอาจจะเห็นอย่างอื่นก็ได้"

 

ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพออกมาเหมาะสม

คุณต้องทำมากกว่าแค่ทำตามกฎในการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อถ่ายภาพให้ออกมาดี การทำตามหลักการต่างๆ เช่น กฎสามส่วน โดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือใช้หลักการอย่างไม่มีจุดประสงค์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทำความเข้าใจว่าส่วนประกอบของการจัดองค์ประกอบภาพไม่เหมือนกับอัลกอริทึมหรือสูตรต่างๆ ส่วนประกอบเหล่านี้ช่วยเป็นแนวทางปูทักษะในการตัดสินใจต่างๆ ของช่างภาพ แต่ทดแทนทักษะเหล่านั้นไม่ได้ "เส้นนำสายตาเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แต่หวังว่าเส้นเหล่านั้นจะนำสายตาผมให้มองไปที่ตัวแบบของคุณและไม่นำสายตาผมไปมองอะไรก็ไม่รู้" Long กล่าว

 

กฎในการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพถือเป็นรากฐาน หลังจากที่คุณได้เก็บเกี่ยวความรู้พื้นฐานว่าต้องใช้อะไรบ้างเพื่อทำให้รูปภาพออกมาดีแล้ว คุณก็สามารถแหกกฎได้เลย "เมื่อคุณรู้เรื่องพื้นฐานแล้ว คุณก็สามารถทดลองได้" Rivera กล่าว "ไม่มีกฎตายตัวว่าคุณควรจะถ่ายสิ่งต่างๆ อย่างไร นั่นแหละความงดงามของการเป็นศิลปิน คุณสามารถสร้างกฎของคุณเองและสร้างมโนภาพของคุณขึ้นมาเองได้"

 

ช่างภาพที่ดีดูออกว่าอะไรเป็นตัวแบบและฉากที่ดี การจัดองค์ประกอบภาพเป็นเครื่องมือที่ช่างภาพสามารถใช้เพื่อช่วยให้คนอื่นๆ มองเห็นในสิ่งที่ช่างภาพเห็น ช่างภาพรวบรวมส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ในโลกอันกว้างใหญ่ และจัดเรียงองค์ประกอบนั้นภายในกรอบสีเหลี่ยมให้ออกมาน่ามองด้วยเครื่องมือและความชำนิชำนาญ สิ่งนี้เป็นจริงสำหรับการถ่ายภาพทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพบุคคลที่มีขนาดเท่าคน การถ่ายภาพภูมิทัศน์ที่มีขนาดใหญ่ หรือการถ่ายภาพมาโครของโลกใบเล็กจิ๋ว

ผู้มีส่วนร่วม

และคุณอาจสนใจ...

ภาพเมืองญี่ปุ่นยามค่ำคืน - เคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืน | Adobe

การถ่ายภาพกลางคืน
แสงน้อยไม่ได้ทำให้ภาพมีคุณภาพต่ำเสมอไปด้วยเคล็ดลับการถ่ายภาพกลางคืนให้ดูดีเหล่านี้

ภาพถ่าย Bokeh รูปทิวตึกระฟ้าในเมืองยามค่ำคืน

วิธีเพิ่มพื้นหลัง Bokeh ให้กับภาพถ่ายของคุณ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอฟเฟกต์เบลอสุดงดงามที่ทำให้ภาพถ่ายของคุณดูโดดเด่น

ภาพสุนัขสีขาวที่อยู่ถัดจากแหล่งน้ำ - เคล็ดลับเกี่ยวกับความยาวโฟกัส | Adobe

ทำความเข้าใจความยาวโฟกัส

ค้นพบวิธีเลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่ายแต่ละภาพ

นักเต้นบัลเลต์ที่กำลังแสดงบนเวที - การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ | Adobe

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์

ค้นพบว่าการปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ชัดเจนได้หรือจับภาพช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวได้อย่างไร