ทำความเข้าใจบิตเรตเสียง

เรียนรู้ว่าเสียงเปลี่ยนไปอยู่ในรูปดิจิทัลได้อย่างไรและค้นหาว่าสิ่งใดทำให้เสียงมีคุณภาพสูง ดูว่าคุณลักษณะของเพลงดิจิทัลและไฟล์เสียงซึ่งเรียกว่าบิตเรตมีผลต่อประสบการณ์ในการฟังอย่างไร

รูปภาพของคลื่นเสียงที่ซ้อนทับกับรูปภาพผู้ชายที่กำลังฟังเพลงด้วยหูฟังแบบเฮดโฟน

เปลี่ยนเพลง ข้อความเสียง และเสียงให้กลายเป็นข้อมูลเสียง

เสียงดิจิทัลคือข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลนั้นอาจจะหนาแน่นหรือมีจำนวนน้อย ไม่ก็อาจจะมีคุณภาพสูงหรือต่ำก็ได้ บิตเรตคือคำที่ใช้อธิบายถึงจำนวนข้อมูลที่มีการถ่ายโอนเข้าไปในเสียง โดยปกติแล้ว บิตเรตที่สูงขึ้นหมายถึงคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น "บิตเรตจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของเสียงในแง่ความใกล้เคียงกับต้นฉบับ" โปรดิวเซอร์และวิศวกรเสียง Gus Berry กล่าว "คุณอาจจะมีบันทึกเสียงที่ฟังแล้วไพเราะที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ถ้าคุณเล่นเสียงด้วยบิตเรตต่ำๆ จากอุปกรณ์ปลายทาง เสียงนั้นจะออกมาฟังดูแย่กว่า"

 

การทำความเข้าใจเรื่องบิตเรตนั้นจำเป็นต่อการบันทึก ผลิต และกระจายเสียง เพื่อทำความเข้าใจบิตเรตอย่างถ่องแท้ คุณยังจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าไฟล์เสียงสร้างมาจากอะไรและมีไฟล์เสียงที่แตกต่างกันประเภทใดบ้าง

 

ไฟล์เสียงที่ผ่านการบีบอัด ไฟล์เสียงแบบ Lossless และไฟล์เสียงที่ไม่ผ่านการบีบอัด

"เสียงประกอบด้วยคลื่นและไฟล์เสียงที่แสดงคลื่นเหล่านั้น" โปรดิวเซอร์ Peter Rodocker กล่าว "วิธีการที่คลื่นเหล่านั้นเข้ารหัสอยู่ในไฟล์เสียงผ่านตัวอย่างเฉพาะประกอบไปด้วยรูปร่างของคลื่น ณ ขณะนั้นและระยะห่างของคลื่นจากจุดเริ่มต้น" จุดเริ่มต้นนั้นคือความเงียบ และไฟล์เสียงวัดระยะว่าเสียงอยู่ห่างจากความเงียบเท่าไร "พูดกันง่ายๆ มันก็คือภาพถ่ายของคลื่นเสียงนั่นละครับ" Rodocker กล่าว

 

ภาพถ่ายเหล่านั้นอาจแตกต่างกันมาก เหมือนอย่างที่รูปภาพมีความแตกต่างกันในเรื่องของคุณภาพและความชัดเจน ไฟล์เสียงประเภทต่างๆ ก็แตกต่างกันในแง่ความใหญ่ของไฟล์เสียง ปริมาณข้อมูลที่บรรจุอยู่ในไฟล์เสียง และบทบาทหน้าที่ของไฟล์เสียง ในขณะที่มีข้อยกเว้นบางอย่าง ไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัดจะบรรจุข้อมูลได้มากที่สุด ดังนั้นไฟล์ประเภทนี้จึงมีบิตเรตที่สูงที่สุด โดยทั่วไปแล้ว ไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูลบางส่วนจะมีปริมาณข้อมูลน้อยที่สุด ซึ่งส่งผลให้มีบิตเรตที่ต่ำกว่า

โครงร่างรูปภาพแสดงองค์ประกอบย่อยๆ ของบิตเรต

รูปภาพโดย Jonathan Petersen

  • ไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัด: ไฟล์เสียงเหล่านี้มีขนาดใหญ่มาก และมีข้อมูลทุกอย่างเท่าที่อุปกรณ์เครื่องเสียงจะสามารถตรวจจับได้ ฟอร์แมตไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัด ได้แก่ WAV, AIFF และ PCM

  • ไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดแบบ Lossless: ไฟล์ในประเภทนี้ผ่านการบีบอัด แต่ด้วยวิธีการที่ไม่มีข้อมูลใดๆ สูญหายไป ไฟล์เหล่านี้รวมถึง FLAC, WMA และ ALAC ไฟล์เหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดและเล็กกว่าไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัด

  • ไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดหรือสูญเสียข้อมูลบางส่วน: โดยทั่วไปแล้ว ไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดซึ่งเป็นฟอร์แมตไฟล์ประเภทที่เล็กที่สุดจะลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นโดยสิ้นเชิงออกไปบางส่วน ฟอร์แมตไฟล์เสียงแบบสูญเสียข้อมูลบางส่วนที่เป็นที่นิยม ได้แก่ MP3s และ AAC "ไฟล์เสียงเหล่านั้นคือไฟล์ที่มีการสตรีมบน Apple Music และ Spotify เป็นปกติ" Rodocker กล่าว

 

อัตราตัวอย่างเสียงและความลึกของบิต

อัตราตัวอย่างเสียงคือจำนวนครั้งที่มีการเก็บตัวอย่างเสียงภายในหนึ่งวินาที ซึ่งก็คือจำนวนสำเนาที่เครื่องมือบันทึกเสียงแปลงเสียงให้เป็นข้อมูลภายในหนึ่งวินาที เสียงดิจิทัลส่วนใหญ่มีอัตราตัวอย่างเสียงอยู่ที่ 44.1kHz ซึ่งยังเป็นอัตราตัวอย่างเสียงของแผ่นซีดีเสียงอีกด้วย อัตราตัวอย่างเสียงนี้แสดงว่ามีการเก็บตัวอย่างเสียง 44,100 ครั้งต่อวินาทีในระหว่างการบันทึก เมื่อมีการเล่นเสียง อุปกรณ์ก็จะประกอบเสียงนั้นขึ้นมาใหม่ด้วยอัตรา 44,100 ครั้งต่อวินาที

 

ปริมาณข้อมูลที่อยู่ในตัวอย่างเสียงแต่ละตัวอย่างมีความแตกต่างกันออกไป ความลึกของบิตคือจำนวนของบิตในแต่ละตัวอย่างเสียงหรือปริมาณข้อมูลที่อัดแน่นอยู่ในแต่ละชิ้นส่วนของเสียงทั้ง 44,100 ชิ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด

 

ตัวอย่างที่มีอัตราตัวอย่างเสียงและความลึกของบิตสูงต่างก็ทำให้ปริมาณข้อมูลที่อยู่ในไฟล์เสียงเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งคู่ นอกจากนั้นยังทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย เช่นเดียวกับภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง ไฟล์เสียงที่มีอัตราตัวอย่างเสียงและความลึกของบิตสูงมีรายละเอียดมากกว่า โดยทั่วไปแล้ว การที่มีรายละเอียดมากกว่าจำเป็นต้องอาศัยบิตเรตที่สูงกว่า

คลื่นเสียงได้รับการแสดงภาพผ่านเอฟเฟกต์แสง

ไม่มีบิตเรตที่ดีที่สุด มีเพียงบิตเรตที่เหมาะสม

บิตเรตที่เหมาะสมกับไฟล์นั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการใช้ไฟล์นั้นเพื่ออะไรและวิธีการในการเล่นเสียง โดยปกติแล้ว บิตเรตที่สูงแสดงว่าเสียงมีคุณภาพสูง หากอัตราตัวอย่างเสียงและความลึกของบิตมีค่าสูงด้วย ถ้าว่ากันโดยทั่วไป ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

 

บิตเรตของแผ่นซีดีเสียงมีค่าเท่ากับ 1,411 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) เสมอ ฟอร์แมต MP3 อาจมีขอบเขตของบิตเรตตั้งแต่ราวๆ 96 ไปจนถึง 320Kbps และบริการสตรีมมิ่งอย่าง Spotify มีขอบเขตของบิตเรตตั้งแต่ราวๆ 96 ไปจนถึง 160Kbps

 

บิตเรตสูงๆ เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบรรดาคนรักเสียง แต่ก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป อย่าลืมว่าเสียงดิจิทัลของคุณจะต้องรับมือกับปรากฎการณ์คอขวดในรูปแบบใด หากผู้ฟังจะดาวน์โหลดเสียงหรือฟังเสียงบนฟอร์แมตเสียงในรูปแบบที่เป็นไฟล์จริงๆ คุณก็สามารถใช้บิตเรตสูงๆ ได้ หากผู้ฟังกำลังสตรีมมิ่งเสียงนั้น เป็นไปได้ที่คุณจะต้องการให้บิตเรตมีค่าต่ำลงมาหน่อยเพื่อให้สามารถสตรีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ถ้าบิตเรตที่มีค่าต่ำกว่าประมาณ 90Kbps หูของมนุษย์จะสามารถแยกแยะได้ว่าคุณภาพเสียงนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อให้จะไม่ได้ฝึกฝนก็ตาม

 

นอกจากนี้ ไฟล์ที่มีบิตเรตสูงและคล้ายกับต้นฉบับมากๆ ไม่ได้มีผลอะไร ถ้าไม่ได้เล่นออกมาผ่านฮาร์ดแวร์ที่มีคุณภาพ หากผู้ใช้กำลังฟังเสียงบนหูฟังแบบเอียร์บัดหรือหูฟังแบบเฮดโฟนที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาด ผู้ใช้ก็จะไม่สามารถรับฟังเสียงที่มีความคล้ายต้นฉบับสูงได้อย่างเต็มที่อยู่ดี บิตเรตที่มีคุณภาพแบบแผ่นซีดีซึ่งมีค่าสูงจะฟังดูไพเราะที่สุดบนระบบสเตอริโอแบบมืออาชีพ โดยระบบสเตอริโอจะสามารถแสดงความถี่ที่สูงมากๆ และต่ำมากๆ ที่อัตราตัวอย่างเสียง 1,411Kbps สามารถเก็บเอาไว้ได้ออกมาได้อย่างเหมาะสม หูฟังแบบเอียร์บัดส่วนใหญ่และลำโพงคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถแสดงความถี่เหล่านั้นได้ 

 

ค้นหาบิตเรตที่เหมาะสม

เมื่อคุณเริ่มโปรเจกต์เสียงใหม่ เป็นเรื่องดีที่จะบันทึกเสียงให้มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถทำได้ โดยใช้อัตราตัวอย่างเสียงและความลึกของบิตสูงๆ ในขณะที่ผลิตเสียง คุณจำเป็นต้องอย่าลืมว่าผู้ฟังของคุณจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเสียงของคุณอย่างไร

 

ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อคุณสร้างเสียงแบบใดก็ตามขึ้นมา คุณควรเก็บไฟล์ที่มีคุณภาพสูงที่สุดไว้เสมอเพื่อเป็นการรับประกันว่าคุณจะมีไฟล์ไว้ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต ฟอร์แมตเสียงในอนาคตอาจจะต้องใช้บิตเรตที่มากขึ้น และเป็นไปได้ว่าการเชื่อมต่อหรือฮาร์ดแวร์ในอนาคตอาจจะเล่นเสียงที่มีคุณภาพสูงเหมือนต้นฉบับออกมาได้ มีความเป็นไปได้จริงๆ ว่าฮาร์ดแวร์เสียงที่วางจำหน่ายทั่วไปในทศวรรษหน้าหรือประมาณช่วงนั้นจะสามารถแสดงบิตเรตได้สูงกว่า 160Kbps ดังนั้นให้เก็บไฟล์เก่าที่ไม่ผ่านการบีบอัดไว้ การแปลงไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัดให้อยู่ในฟอร์แมตใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ

 

การรู้ว่าจะใช้ไฟล์ประเภทไหนเป็นเพียงส่วนหนึ่งในขั้นตอนการผลิตเสียงเท่านั้น การเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับ Graphic Equalizer และทำความเข้าใจวิธีการมิกซ์ดนตรีจะช่วยพัฒนาเสียงที่คุณผลิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าบิตเรตจะเป็นแบบใด

ผู้มีส่วนร่วม

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Audition

เวิร์กสเตชันระดับมืออาชีพของคุณสำหรับการบันทึกและมิกซ์เสียง การสร้างพอดแคสต์ และการออกแบบเอฟเฟกต์เสียง

และคุณอาจสนใจ...

การมิกซ์เพลงในสตูดิโอบันทึกเสียง

ประเภทรูปแบบไฟล์เสียงที่ดีที่สุด

Lossy หรือ Lossless บีบอัดหรือไม่ ค้นหารูปแบบไฟล์เสียงที่เหมาะกับความต้องการของคุณ

ภาพถ่ายองค์ประกอบโฮมสตูดิโอ

การจัดโฮมสตูดิโอ

สำรวจพื้นฐานการสร้างพื้นที่ภายในบ้านเพื่อบันทึกเสียงคุณภาพสูง

เส้นคลื่นสีม่วงและชมพูนีออน

ค้นหา DAW ตอบโจทย์ความต้องการด้านเสียงของคุณที่สุด

เรียนรู้วิธีเลือกแพลตฟอร์มมิกซ์เพลงหรือพอดแคสต์ตามต้องการ

การมิกซ์เพลงในสตูดิโอบันทึกเสียง

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการมิกซ์เพลงสำหรับมือใหม่

รับเคล็ดลับพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นสำรวจการมิกซ์เพลงของคุณ

รับ Adobe Audition

สร้าง มิกซ์ และออกแบบเอฟเฟกต์เสียงด้วยซอฟต์แวร์การแก้ไขเสียงดิจิทัลที่ดีที่สุดในวงการ

ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น ฿876.33/เดือน** (รวม VAT)