ยกระดับ EQ IQ ของคุณ: ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Graphic Equalizer

Graphic Equalizer ช่วยให้คุณปรับแต่งเสียงได้โดยการเพิ่มหรือการลดบางความถี่ เรียนรู้เบื้องต้นจากบทความนี้ แล้วปล่อยให้หูของคุณเป็นตัวนำทาง

โปรดิวเซอร์เพลงกำลังใช้ Graphic Equalizer ที่ Digital Audio Workstation

ทำไมต้องใช้ Graphic Equalizer

บันทึกเพลงหรือคำพูดหนึ่งๆ อาจมีหลากหลายโทนเสียง ซึ่งไม่ได้น่าฟังไปเสียทั้งหมด Graphic Equalizer (EQ) เป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่ใช้เพิ่มหรือลด (ทำให้ดังขึ้นหรือเบาลง) ช่วงความถี่หนึ่งๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพเสียง Graphic EQ ใช้งานง่ายเพราะมีแถบเลื่อนสำหรับปรับระดับเดซิเบล (ระดับความดัง) ขึ้นหรือลงจนกลายเป็นฟีเจอร์ทั่วไปในระบบลำโพงเครื่องเสียงรถยนต์และโฮมเธียเตอร์ รวมถึงสตูดิโอบันทึกเสียงด้วย

Graphic Equalizer ทำงานอย่างไร

Graphic Equalizer ส่วนใหญ่จะแบ่งเสียงออกเป็นย่านความถี่ต่างๆ 6-31 ย่าน โดยมีแถบเลื่อน ซึ่งจะเป็นแถบเลื่อนบนตัวเครื่องจริงหรือในโปรแกรมก็ได้ ทำหน้าที่ควบคุมเสียงของแต่ละย่านความถี่ ยกตัวอย่างเช่น หากเสียงแหลมบนแทร็กดังเกินไป การลดเสียงในหนึ่งหรือสองย่านความถี่สูงจะช่วยให้เสียงนั้นเบาลง หากเสียงทุ้มทำให้หน้าต่างสั่น คุณเพียงแค่ลดแถบเลื่อนย่านความถี่ต่ำสักย่านหนึ่ง 

 

(ความถี่คืออัตราที่คลื่นเสียงเคลื่อนผ่านจุดๆ หนึ่ง และมีหน่วยวัดเป็นเฮิรตซ์ (Hz) ซึ่งเป็นจำนวนคลื่นที่ผ่านจุดหนึ่งภายในหนึ่งวินาที โน้ตเสียงต่ำเดินทางเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ขณะที่โน้ตเสียงสูงเดินทางเป็นคลื่นความถี่สูง โดยหูของมนุษย์ที่ไวต่อความรู้สึกที่สุดสามารถได้ยินเสียงที่ความถี่ประมาณ 20-20,000 Hz)

 

ใน Graphic Equalizer แบบ 31 ย่านความถี่ ความถี่ศูนย์กลางของแต่ละย่านความถี่จะอยู่ห่างจากความถี่ศูนย์กลางของย่านความถี่ติดกันเพียงหนึ่งในสาม Octave คุณจึงสามารถปรับช่วงความถี่แคบๆ ได้จากย่านความถี่ที่มีให้ใช้งานมากมาย ใน EQ แบบ 10 ย่านความถี่ ความถี่ศูนย์กลางจะห่างกันหนึ่ง Octave ดังนั้นการปรับเสียงในแต่ละครั้งจึงครอบคลุมโทนเสียงทั้ง Octave ซึ่งทำให้การลดและการเพิ่มความถี่ทำได้ง่าย แต่ก็เสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงความถี่ที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะแก้ไข

 

“ข้อดีของ Graphic EQ คือความไม่ยุ่งยาก” โปรดิวเซอร์และวิศวกรเสียง Gus Berry กล่าว “คุณสามารถปรับขึ้นหรือลงที่หนึ่งในจุดความถี่คงที่ได้ หากคุณเพิ่มความถี่แล้วไม่ชอบเสียง คุณก็สามารถลดความถี่ลงได้เล็กน้อย แต่หากคุณลดบางความถี่ลงแล้วความหนักแน่นของเสียงหายไป คุณอาจจะต้องรักษาความถี่นั้นไว้หรือไม่ก็เพิ่มขึ้นอีกหน่อย” 

ภาพแทนคลื่นเสียงที่กำลังสั่นสะเทือน

ตั้งขีดจำกัดด้วย High-pass Filter และ Low-pass Filter

Filter เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในปลั๊กอิน EQ ที่ดีต่างๆ โดย High-pass Filter จะลดความถี่ต่ำและปล่อยให้ความถี่สูงผ่านไป ในขณะที่ Low-pass Filter จะทำหน้าที่ตรงกันข้าม

 

โปรดิวเซอร์และนักมิกซ์เสียง Lo Boutillette ใช้ High-pass Filter เพื่อลดเสียงทุ้มต่ำ เธอกล่าว “ยังไงเราก็ได้ยินเสียงนั้นไม่ชัดเจน และอาจจะควบคุมไม่ได้จนเริ่มมีเสียงดังก้องลั่นห้อง” Berry ใช้วิธีเดียวกัน ในขณะที่กำลังมิกซ์แทร็กเสียงร้อง Berry มักจะกรองเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่า 100 Hz ออก “ไมโครโฟนอาจรับเสียงในความถี่ที่ต่ำกว่าที่เราได้ยิน และจะทำให้มิกซ์เสียงของคุณฟังดูทึบ” Berry กล่าว “แม้ว่าคุณจะไม่ได้ยิน แต่เสียงที่ความถี่นี้ก็ทำให้ลำโพงทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็นได้”

 

ขณะมิกซ์แทร็กกลอง Berry จะใช้ Low-pass Filter เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงกลองสแนร์หรือเสียงฉาบแตกพร่า แต่ Boutillette ผู้โปรดิวซ์รายการพอดแคสต์เป็นประจำเตือนว่าอย่าตั้งค่า Low-pass Filter ให้ต่ำจนเกินไป เพราะเสียงของมนุษย์เราส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1,000-3,000 Hz แต่เสียงเสียดแทรกและเสียงพยัญชนะอาจมีความถี่สูงกว่านั้นได้ “ถ้าคุณลดระดับเสียงความถี่สูงให้ต่ำลง” เธอกล่าว “ความชัดเจนของเสียงคนอาจลดลงตามไปด้วยได้เสมอ คุณต้องละเอียดมากจริงๆ”

 

ขณะบันทึกเสียงร้อง Berry จะคอยสังเกตความถี่ระหว่าง 2,000-4,000 Hz และลดลงเล็กน้อยหากเสียงกระด้างจนเกินไป นอกจากนี้ Berry ยังคอยระวัง “ปัจจัยที่ทำให้เกิดการก้องสะท้อน” เมื่อเสียงฟังดูอู้อี้เกินไป ซึ่งอาจมีผลกระทบในความถี่ระหว่าง 600-800 Hz

 

ใช้การแตะเพียงเล็กน้อย เมื่อคุณปรับตัวควบคุม EQ

จำไว้ว่าเมื่อลดหรือเพิ่มย่านความถี่ คุณไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ Gain (ระดับเสียง) ของความถี่ศูนย์กลางเท่านั้น แต่คุณกำลังเพิ่มหรือลดช่วงความถี่สูงและต่ำกว่าความถี่นั้นด้วย ด้วยการปรับเพียงเล็กน้อย คุณอาจเปลี่ยนแปลงเสียงไปอย่างมหาศาล

 

Berry กล่าวว่าเขาไม่ค่อยลดเสียงมากกว่าหนึ่งหรือสอง dB (เดซิเบล) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากอาจทำให้เสียงฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ และเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะเพิ่มหรือลด Boutillette มักเลือกอย่างหลัง โดยกล่าวว่าเธอจะไม่ปรับค่าเกินสาม dB ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดก็ตาม

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้หูของคุณ ไม่ใช่ตา “ถ้าคุณอยากได้เสียงที่ใสกว่านี้” Berry กล่าว “คุณอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มเสียงสูงเสมอไป คุณอาจต้องลดความทึบที่เกิดจากเสียงต่ำ ซึ่งจะช่วยให้เสียงใสขึ้นได้ แต่ถ้าคุณอยากได้เสียงเข้ม คุณอาจไม่ต้องเพิ่มเสียงต่ำเลย คุณแค่ลดเสียงสูงบางย่านเท่านั้นเอง”

การปรับแต่งคลิปแทร็กเสียงในโปรแกรมแก้ไขเสียงดิจิทัล

ลองใช้ Parametric Equalizer เพื่อปรับความถี่ที่ความละเอียดสูง

Graphic Equalizer เหมาะสำหรับการปรับแต่งมิกซ์เพลงเต็ม แต่วิศวกรเสียงมักจะใช้ Parametric Equalizer เพื่อเจาะจงจัดการเฉพาะบางความถี่ “คุณสามารถเลือกความถี่ศูนย์กลาง ลดหรือขยายย่านความถี่ของความถี่แวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ และยังปรับความลาดชันของความถี่เหล่านั้นได้อีกด้วย” Boutillette กล่าวถึง Parametric EQ

 

นอกจากนี้ คุณอาจลองปรับแต่งโดยใช้ Spectrum Analyzer ซึ่งจะแสดงความถี่ของไฟล์เสียงด้วยภาพ สีที่สว่างกว่าจะแสดงถึงเสียงที่ดังกว่า ซึ่งคุณสามารถ ลดลงได้อย่างแม่นยำ

 

Graphic EQ ใช้ในการแสดงสดและสตูดิโอ

ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่คอนเสิร์ตเพลงร็อกหรือการบันทึกพอดแคสต์ การแสดงสดจะต้องข้องเกี่ยวกับความผันแปรในแง่การสะท้อนของเสียง ขนาดและรูปร่างของห้อง และเสียงแวดล้อมที่เข้ามารบกวน Boutillette กล่าวว่า Graphic EQ เหมาะสำหรับการสร้างเสียงสดโดยปราศจากสัญญาณป้อนกลับ “เรียกกันว่า ลำโพงหอน” เธอกล่าว “คุณต้องลดเสียงบางความถี่ลงเพื่อไม่ให้บาดหูผู้ฟัง” Berry กล่าวเห็นด้วย “Graphic EQ ที่ใช้สำหรับเสียงสดนั้นต้องมีความแม่นยำกว่ามาก คุณสามารถแยกความถี่ได้แค่สองสามความถี่ ไม่ใช่ทั้ง Octave หรือครึ่ง Octave”

 

ระบบเสียงในสตูดิโอบันทึกเสียงมักออกแบบมาเพื่อบันทึกเสียง โดยมีการปรับปรุงคุณลักษณะเสียงและจัดวางลำโพงในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งแสดงว่าเราใช้ Graphic Equalizer ในการบันทึกเสียงด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างออกไปจากการใช้ในระบบโฮมสเตอริโอ “ในโลกของสตูดิโอ Graphic EQ มักใช้กับเครื่องดนตรีที่ให้ความถี่ระดับกลางมากกว่า เช่น กีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์โปร่ง” Berry กล่าว “Graphic EQ ในสตูดิโอมีย่านความถี่กว้างกว่า ซึ่งเป็นเสียงที่น่าฟังกว่าเล็กน้อย”

ภาพประกอบดิจิทัลของวาทยกรที่กำลังควบคุมเสียงดนตรี

คุณจะพัฒนาทักษะการโปรดิวซ์และการมิกซ์เสียงได้อย่างไร

เริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นทุกครั้ง
ในขณะที่วิศวกรเสียงบางคนใช้เทมเพลตสำหรับดนตรีบางประเภท คุณควรเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นสำหรับการมิกซ์เสียงทุกครั้ง เครื่องดนตรีทุกชิ้นและเสียงทุกเสียงจะฟังและให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณต้องฟังด้วยใจ (หรือหู!) ที่เปิดกว้าง ทุกครั้งที่คุณนั่งที่ Digital Audio Workstation

 

ฝึกฝน
การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบันทึกและมิกซ์เสียงต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝน แม้ว่าจะทำงานด้านเสียงมาหลายปี แต่ Berry ยังคงขัดเกลาความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงความถี่เสียงของเครื่องดนตรีบางประเภทในทุกการมิกซ์เสียงอยู่เรื่อยๆ “แล้วคุณจะรู้ว่าควรเก็บช่วงความถี่ใดของกลุ่มเครื่องดนตรีนั้นๆ ไว้และช่วงความถี่ที่สามารถกรองออกหรือเพิ่มเสียงได้” Berry กล่าว

 

ใช้เวลาในการฝึกหูและเพิ่มพูนความรู้ของคุณ ทดลองใช้ Equalizer เสียงต่อไป แล้วคุณจะใช้ EQ ได้อย่างเชี่ยวชาญขึ้น

ผู้มีส่วนร่วม

ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Audition

เวิร์กสเตชันระดับมืออาชีพของคุณสำหรับการบันทึกและมิกซ์เสียง การสร้างพอดแคสต์ และการออกแบบเอฟเฟกต์เสียง

และคุณอาจสนใจ...

การมิกซ์เพลงในสตูดิโอบันทึกเสียง

ประเภทรูปแบบไฟล์เสียงที่ดีที่สุด

Lossy หรือ Lossless บีบอัดหรือไม่ ค้นหารูปแบบไฟล์เสียงที่เหมาะกับความต้องการของคุณ

เส้นคลื่นสีม่วงและชมพูนีออน

ค้นหา DAW ตอบโจทย์ความต้องการด้านเสียงของคุณที่สุด

เรียนรู้วิธีเลือกแพลตฟอร์มมิกซ์เพลงหรือพอดแคสต์ตามต้องการ

การมิกซ์เพลงในสตูดิโอบันทึกเสียง

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการมิกซ์เพลงสำหรับมือใหม่

รับเคล็ดลับพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นสำรวจการมิกซ์เพลงของคุณ

ภาพถ่ายองค์ประกอบโฮมสตูดิโอ

การจัดโฮมสตูดิโอ

สำรวจพื้นฐานการสร้างพื้นที่ภายในบ้านเพื่อบันทึกเสียงคุณภาพสูง

รับ Adobe Audition

สร้าง มิกซ์ และออกแบบเอฟเฟกต์เสียงด้วยซอฟต์แวร์การแก้ไขเสียงดิจิทัลที่ดีที่สุดในวงการ

ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น ฿876.33/เดือน** (รวม VAT)