สนุกกับการถ่ายภาพ Perspective
มุมมองที่ไม่เหมือนใครหรือการจัดองค์ประกอบที่สะดุดตาสามารถเปลี่ยนภาพถ่ายดีๆ เป็นผลงานชั้นเยี่ยมได้ อ่านเคล็ดลับการถ่ายภาพจากมือฉมังเพื่อสร้างสรรค์ภาพที่ทำให้เห็นฉากเดิมๆ ในมุมใหม่
ภาพถ่ายโดย David Rose
มองขาดเรื่อง Perspective
ในการถ่ายภาพนั้น Perspective หมายถึงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างตัวแบบในเฟรม หลัก Perspective ยังแสดงให้เห็นว่าวิธีการจัดวางองค์ประกอบภาพของคุณจะช่วยให้ผู้ชมเห็นโลกในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งก็คือมุมมองของคุณนั่นเอง
"คือเส้นแบ่งระหว่างภาพถ่ายดีๆ ที่น่ามองกับภาพที่ดูจืดๆ หรือไม่มีมิติ" ช่างภาพ David Rose กล่าว เตรียมตัวให้พร้อมที่จะย้ายที่และหาจุดเหมาะๆ ในฉากเพื่อหาช็อตนั้นของคุณ เพราะ Perspective ที่น่าสนใจนั้นหาได้ยากมากที่ระดับสายตา ลองใช้เส้นนำสายตา, มุมมอง Forced Perspective, มุมต่ำ หรือ Bird’s-eye View เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในแบบที่สามารถสื่อมุมมองที่ไม่เหมือนใครของคุณได้
ภาพถ่ายโดย David Rose
จุดประสงค์ของการใช้ Perspective ในการถ่ายภาพ
"เราใช้ Perspective เพื่อสร้างมิติในภาพ" Rose กล่าว "กล้องนำโลกสามมิติมาแสดงใหม่บนระนาบสองมิติ Perspective ช่วยให้คุณสามารถสร้างภาพลวงตาว่ามีความลึกอยู่ภายในฉากสองมิตินั้น"
Perspective ไม่เพียงแต่ทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้คุณท้าทายการมองโลกของผู้คนด้วยการเผยโลกนั้นผ่านเลนส์ของคุณ หากฝึกฝนจนมีสายตาที่เฉียบคมแล้ว คุณจะสามารถถ่ายภาพที่ไม่เหมือนใครได้แม้ในที่ที่คนนิยมถ่ายกันทั่วไป
"Perspective ในการถ่ายภาพก็เหมือนกับร้อยแก้วและร้อยกรองในภาษา" Rose กล่าว "คุณอาจอ่านประโยคที่ถูกต้องในทางเทคนิคและเข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อ แต่ประโยคนั้นกลับไม่จับใจคุณก็ได้ คุณสามารถถ่ายภาพที่พอไปวัดไปวาได้ของบางสิ่งบางอย่าง แต่หากถ่ายสิ่งนั้นใน Perspective ที่น่าสนใจ คุณจะสามารถดึงดูดผู้ชมได้อย่างแท้จริง"
ภาพถ่ายโดย Dan Tom
วิธีสร้าง Perspective ในภาพของคุณ
ภาพถ่ายที่ดีเริ่มต้นจากไอเดียที่ดี ดังนั้นก่อนที่คุณจะกดชัตเตอร์ ให้นึกถึงสิ่งที่คุณพยายามจะถ่าย ค่อยๆ มองไปรอบๆ ฉากและสังเกตสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ตรงกลาง และพื้นหลัง เมื่อคุณทราบองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องมีในภาพแล้ว คุณสามารถวางตำแหน่งตัวเองให้เฟรมครอบคลุมที่สิ่งที่คุณต้องการให้แสดงในภาพ โดยปราศจากองค์ประกอบที่ไม่มีส่วนในการเล่าเรื่อง
ตัดสินใจเลือกจุดโฟกัสให้แน่ชัด "โฟกัสจะนำสายตาของผู้ชมไปยังจุดที่คุณต้องการเลย" Rose กล่าว จากนั้นก็ถึงส่วนสำคัญคือเปลี่ยนจุดตั้งกล้อง เลื่อนกล้องขึ้นลงหรือจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ถ่ายภาพที่เบื้องหน้าดูใหญ่โตโดยถ่ายที่ระดับพื้น หรือมองหาวัตถุที่ใช้เป็นกรอบสำหรับภาพของคุณได้ เล่นกับระยะชัดลึก (ระยะระหว่างวัตถุที่ใกล้และไกลที่สุด) หรือลองดูว่ามุมต่างๆ จะเปิดเผยให้เห็นรูปทรงเรขาคณิตใดบ้าง
การถ่ายภาพ Perspective ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิด จึงเป็นเรื่องสนุก ไม่ว่าคุณจะทำอะไร อย่าหยุดที่ช็อตแรกที่โดนใจคุณ เชื่อในสัญชาตญาณ แต่อย่าลืมยั้งมือและสำรวจฉาก เผื่อจะค้นพบการจัดองค์ประกอบที่อาจซุกซ่อนอยู่หากมองแบบเผินๆ "ผมจะถ่ายภาพฉากเดียวกันเป็นสิบๆ ภาพ" ช่างภาพ Dan Tom กล่าว "จากนั้นจึงกลับไปเลือกภาพที่ชอบในขั้นตอนหลังการถ่าย"
ภาพถ่ายโดย David Rose
ประเภทของ Perspective
Perspective พื้นฐานในการถ่ายภาพมีสามประเภท "Perspective อาจเกิดจากภาพ (หรือเ้สน), ลักษณะทางกายภาพ หรือแนวคิดก็ได้" Tom กล่าว "ที่สำคัญสำหรับผมคือการจัดองค์ประกอบและสิ่งต่างๆ ที่ผมเลือกให้อยู่ในเฟรม ทั้งหมดล้วนแต่ส่งผลต่อภาพที่ได้และเรื่องราวที่คุณพยายามจะเล่า"
Geometric Perspective
เส้นนำสายตาคือหนึ่งในเทคนิคทางภาพที่ศิลปินนิยมใช้เป็นองค์ประกอบในฉากมากที่สุด เส้นนำสายตาคือเส้นขนานที่เมื่อมองจากระยะไกลแล้วจะดูเหมือนตรงเข้าไปบรรจบกันที่จุดรวมสายตา รูปทรงที่ดูเหมือนเส้นเหล่านี้จะนำสายตาของผู้ชมไปยังส่วนต่างๆ ของภาพถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติ รูปทรงเรขาคณิตที่ชัดเจนจะเป็นโครงสร้างให้กับภาพถ่ายของคุณได้ ดังนั้นนอกจากเส้นแล้ว ให้มองหารูปทรงอื่นๆ ที่สามารถดึงผู้ชมให้เข้าไปในฉากได้ด้วย
Physical Perspective
Physical Perspective เล่นกับระยะห่างเพื่อสื่อถึงสัดส่วนหรือลักษณะทางกายภาพของตัวแบบ วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือวางตัวแบบไว้ในภาพถ่ายภูมิทัศน์เพื่อแสดงให้เห็นขนาด ปัจจัยอื่นๆ ที่คุณสามารถเน้นได้คือความสูง, ความยาว, สี, พื้นผิว, Contrast, Highlight และเงา
Conceptual Perspective
Conceptual Perspective เกี่ยวกับวิธีที่คุณมองโลกล้วนๆ "หนึ่งในสิ่งที่สวยงามที่สุดของการถ่ายภาพคือ มุมมองของคุณนั่นเองคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะคุณสิ่งที่ไม่มีใครอื่นสามารถนำเสนอได้" Tom กล่าว ภาพถ่ายสามารถโน้มน้าวใจ เป็นแรงบันดาลใจ หรือเผยแง่มุมหนึ่งของโลกผ่านสายตาของคุณได้ และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือคุณเองที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะบอกอะไรและด้วยวิธีใดผ่านภาพถ่ายของคุณ
เคล็ดลับวางองค์ประกอบให้แปลกใหม่
ลองใช้เลนส์แบบต่างๆ
ความยาวโฟกัสมีผลอย่างมากต่อภาพที่ได้ เลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ฟิชอายสามารถกวาดภาพได้ครบทั้งฉาก ส่วนเลนส์ Telephoto จะบีบภาพและทำให้พื้นหลังดูใหญ่ขึ้นได้ หากคุณต้องการวิธีทำให้ฉากเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนเลนส์แล้วคุณจะเห็นฉากนั้นจาก Perspective ที่ต่างออกไปทันที
ลองใช้มุมมอง Forced Perspective
การถ่ายภาพด้วยมุมมอง Forced Perspective คือการสร้างภาพลวงตาที่เล่นกับการรับรู้ขนาดของสมอง โดยทำให้ขนาดของวัตถุที่ดูสัมพันธ์กันผิดเพี้ยนไป หากคุณเคยเห็นภาพถ่ายที่มีคนค้ำหอเอนเมืองปิซาหรือยันหอไอเฟลไว้ นั่นคือภาพลวงตาจากมุมมอง Forced Perspective นั่นเอง ในการสร้างมุมมองดังกล่าวในภาพถ่ายของคุณ วางวัตถุขนาดใหญ่ไว้ที่พื้นหลังและวางวัตถุขนาดเล็กที่เบื้องหน้า แล้วคุณจะเห็นผลของระยะที่สัมพันธ์กันของวัตถุเหล่านี้ที่มีต่อดวงตาของคุณ
เริ่มจากเลนส์ไพร์ม
เลนส์ไพร์มคือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสตายตัว การที่ซูมไม่ได้จะบีบให้คุณต้องเปลี่ยนตำแหน่งหรือมุมกล้องเองแทนที่จะพึ่งพาเลนส์เพียงอย่างเดียว หากคุ้นเคยกับเลนส์ซูม คุณอาจต้องปรับตัวเล็กน้อยหากมีความยาวโฟกัสเพียงค่าเดียวให้ใช้ แต่เมื่อใช้เลนส์ไพร์มคุณจะไม่จำเป็นต้องมานั่งเลือกความยาวโฟกัส แถมความเรียบง่ายของเลนส์ไพร์มอาจทำให้คุณหันมาใช้ความคิดสร้างสรรค์แทนและทำให้คุณเป็นช่างภาพที่มีรายละเอียดขึ้น
ใช้ Adobe แก้ไข Perspective หลังถ่าย
ใช้ Adobe Photoshop หรือ Photoshop Lightroom เพื่อแก้ไข Perspective ในภาพถ่ายของคุณ หากถ่ายภาพสถาปัตยกรรม คุณมักสังเกตเห็นว่าอาคารสูงและวัตถุที่มีเส้นตรงมีแนวโน้มที่จะบิดเบี้ยวไป คุณอาจใช้เครื่องมือ Perspective Warp ใน Photoshop เพื่อซ่อมเส้นขนาน หรือแผง Geometry ใน Lightroom เพื่อแก้ไข Perspective โดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดมุมมองของคุณในฐานะช่างภาพผ่านการแต่งภาพได้ด้วย คุณมองฉากนั้นเป็นภาพถ่ายขาวดำอันแสนมืดหม่น หรืออยากให้ภาพของคุณมีสีสันสดใสและมี Contrast สูงๆ ไหม ตัวเลือกของคุณขณะแต่งภาพจะทำให้จินตนาการที่คุณนึกไว้เป็นจริงได้ และอาจเป็นความสนุกอย่างหนึ่งในการสร้างผลงานภาพถ่าย คุณจึงไม่ควรละเลยขั้นตอนหลังการถ่ายภาพ
ภาพถ่ายโดย David Rose
ค้นหากรอบอ้างอิงใหม่
การใช้ Perspective ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ล้วนเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาฝึก จำไว้ว่าคุณมองเห็นอะไรไม่สำคัญเท่าคุณมองเห็นอย่างไร และคุณต้องผ่านการฝึกฝนจึงจะคุ้นชินกับการถ่ายทอดโลกผ่านเลนส์ที่ไม่เหมือนใครของคุณ
ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หรือถ่ายภาพมาเป็นพันครั้งแล้ว อย่ากดดันตัวเองให้กดถ่ายภาพเพียงหนึ่งภาพหรือใช้ Perspective เดียว เปิดรับจังหวะและโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาและกล้าที่จะเสี่ยง ใส่ใจสิ่งที่ดึงดูดคุณโดยธรรมชาติ แล้วในไม่ช้าคุณก็จะเริ่มค้นพบสไตล์และมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณเอง
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom
แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์
และคุณอาจสนใจ...
สร้างสรรค์เรื่องราวด้วยการถ่ายภาพ Street
เปิดรับรูปแบบการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมานี้และเริ่มถ่ายภาพต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดแสงภาพถ่ายบุคคล
เรียนรู้พื้นฐานของการจัดแสงภาพถ่ายบุคคลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวแบบ
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก
เรียนรู้เคล็ดลับพื้นฐานในการถ่ายภาพภายในและภายนอกอาคาร ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก
ก้าวไกลด้วยการถ่ายภาพการเดินทาง
ใช้ประโยชน์จากภาพการเดินทางของคุณให้ได้มากที่สุดด้วยเคล็ดลับต่างๆ เหล่านี้จากช่างภาพท่องเที่ยวมืออาชีพ