เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างสี Spot และสี Process

เลือกรูปแบบสีที่ใช่สำหรับงานพิมพ์สีชิ้นถัดไปของคุณด้วยเคล็ดลับเหล่านี้จากนักออกแบบกราฟิกมืออาชีพ    

แสดงความแตกต่างระหว่างสี Spot และสี Process

สีอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

การเลือกวิธีการพิมพ์ที่ทำให้โปรเจกต์ของคุณดูดีทั้งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และในชีวิตจริงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าคุณจะกำลังพิมพ์โลโก้บริษัทหรือชิ้นงานศิลปะแบบดิจิทัล ในการตัดสินใจว่ารูปแบบสีที่เหมาะสมกับงานพิมพ์ของคุณนั้นคือสี Spot หรือสี Process อาจเป็นเรื่องยาก แต่รูปแบบทั้งสองก็มีข้อเสียและข้อดีที่โดดเด่นแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับงานที่คุณต้องการพิมพ์ 

 

สี Spot คืออะไร

สี Spot เป็นสีเฉดเดียวที่ทำขึ้นโดยใช้หมึกเฉพาะที่ผ่านการผสมมาแล้ว ซึ่งมักอิงจากสีของ Pantone Matching System (PMS) สี Pantone เป็นสีที่มีการกำหนดรูปแบบมาตรฐานและแต่ละสีจะได้รับชื่อและหมายเลขเฉพาะ ทำให้นักออกแบบและเครื่องพิมพ์จากทั่วทุกสารทิศสามารถใช้ระบุว่าเป็นสีเดียวกันได้อย่างง่ายดาย สี Spot เป็นสีที่มีความโดดเด่นสดใส แต่ถ้าหากคุณใช้การพิมพ์แบบออฟเซ็ตเพื่อพิมพ์งานออกแบบของคุณด้วยสี Spot คุณอาจต้องใช้เงินมากขึ้นไปกับเครื่องพิมพ์ของคุณ

 

การพิมพ์แบบออฟเซ็ต

แม้ว่าการพิมพ์แบบดิจิทัลจะพัฒนาไปอย่างมาก แต่การพิมพ์แบบออฟเซ็ตก็ยังคงเป็นวิธีการพิมพ์หลักของอุตสาหกรรมการพิมพ์เชิงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 100 ปี การพิมพ์แบบออฟเซ็ตใช้แผ่นแม่พิมพ์โลหะที่เคลือบด้วยหมึกเพื่อประทับภาพลงบนกระดาษ การพิมพ์เป็นสีขาวดำนั้นใช้แผ่นแม่พิมพ์เพียงแผ่นเดียว แต่หากต้องการเพิ่มจำนวนสีที่ใช้ คุณเองก็ต้องเพิ่มจำนวนแผ่นแม่พิมพ์ด้วย ยิ่งงานของคุณใช้แผ่นแม่พิมพ์มากเท่าไร การพิมพ์ก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น 

 

สี Process คืออะไร

สี Process ใช้หมึกสี 4 ชนิดได้แก่ ฟ้า แดงอมม่วง เหลือง และดำ แล้วพิมพ์ออกมาเป็นจุดเล็กๆ นับล้านที่ทับซ้อนกันและผสมผสานกันออกมาเป็นสีต่างๆ ครบทุกเฉดในสเปกตรัม วิธีการแบบนี้หรือที่รู้จักกันในชื่อกระบวนการ CMYK เป็นวิธีการพิมพ์ที่ช่วยประหยัดเงินด้วยการจำกัดจำนวนแม่พิมพ์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานให้เหลือแค่ 4 ชุด แต่หมึก CMYK ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในด้านสีที่สามารถผสมออกมาได้

สี Process นั้นประกอบด้วยสีฟ้า แดงอมม่วง เหลือง และดำ

รูปแบบใดที่เหมาะกับฉัน

"การพิมพ์แต่ละแบบก็มีข้อดีของตนเอง" นักวาดภาพประกอบและศิลปินนักออกแบบกราฟิก James Weinberg กล่าว "สี Process นั้นเหมาะที่สุดกับการทำซ้ำงานภาพถ่าย หรืองานที่ต้องใช้เฉดสีที่หลากหลายและมีความละเอียดอ่อน ส่วนสี Spot นั้นเหมาะกับการใช้งานกับงานกราฟิกมากกว่า เมื่อคุณกำลังผลิตเสื้อยืด ควรใช้สีแบบ Spot สำหรับภาพกราฟิกเพราะคุณต้องแยกสีแต่ละสีออกจากกัน เพราะเสื้อยืดส่วนมากนั้นผลิตด้วยการพิมพ์สกรีน"

 

การพิมพ์สกรีน

ในการพิมพ์โดยใช้สกรีน สกรีนตาข่ายจะถูกวางพาดบนพื้นผิวที่ต้องการให้ลวดลายปรากฏ จากนั้นจึงเคลือบลวดลายนั้นด้วยหมึกสีโดยใช้แผ่นยางปาดสี จากนั้นหมึกจะซึมผ่านตาข่ายลงไปยังพื้นผิว ยกเว้นในบริเวณที่ช่องว่างในตาข่ายไว้ถูกฉลุอุดไว้ จากนั้นจะทำกระบวนการนี้ซ้ำอีกครั้งโดยใช้สกรีน ฉลุและหมึกสีจำนวนมากขึ้นจนภาพออกมาเสร็จสมบูรณ์

 

Weinberg แนะนำว่า "โดยทั่วไปแล้วการพิมพ์สกรีนคือเวลาที่คุณควรใช้สี Spot และการพิมพ์แบบออฟเซ็ตคือเวลาที่คุณควรใช้สี Process"  

การพิมพ์ภาพกราฟิกด้วยสีแบบ Spot

สี Spot และสี Process สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างไร

สำหรับงานพิมพ์ส่วนมากคุณจะใช้สี Spot หรือสี Process อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้สีทั้ง 2 รูปแบบหรือเมื่อใช้แล้วเป็นประโยชน์กว่า ตัวอย่างเช่น โลโก้บริษัทมากมายต่างใช้สี Pantone ของตนเองโดยเฉพาะ เช่น สีเขียวของ Starbuck หรือสีแดงในสัญลักษณ์ของ McDonald ซึ่งไม่สามารถใช้สี CMYK สร้างขึ้นมาได้ Wienberg อธิบายว่า "ในกรณีนี้ คุณควรใช้สี Process จำนวน 4 สีร่วมกับสี Pantone แบบ Spot"

 

นอกจากนี้ การใช้สีทั้งสองรูปแบบร่วมกันยังสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางด้านศิลปะอีกด้วย ตัวอย่างเช่น สามารถใช้สี Spot บางสีเพื่อทาทับสี Spot อื่นๆ ได้เพื่อสร้างสีใหม่เมื่อนำมาผสมกัน "เมื่อนำสี Spot เช่นสีแดงอมม่วงและสีฟ้ามาวางทับกันจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจอย่างสีม่วงสุดคูลที่ผมใช้ในภาพประกอบมากมายที่ผมทำ" Weinberg กล่าว  

 

วิธีการสร้างภาพที่พิมพ์ง่าย

เมื่อคุณออกแบบภาพของคุณ คุณสามารถดำเนินการขั้นตอนบางอย่างเพื่อให้คุณไม่ต้องลำบากจนเกินไปเวลาพิมพ์ภาพนั้น

 

"หากผมจะทำงานพิมพ์ งานนั้นต้องใช้สีแค่ 3 สี การคิดแบบนี้เหมือนเป็นการกำหนดกรอบคร่าวๆ ให้กับสิ่งที่ผมได้คิดเอาไว้" Weinberg กล่าว "ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสีโทนร้อนและโทนเย็นนั้นสำคัญอย่างมาก อย่าลืมทำให้สีต่างๆ มีการตัดกันอย่างเหมาะสม" การเลือกจำนวนสีที่คุณจะใช้อย่างระมัดระวังจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ได้เป็นอย่างดี

       

วิธีที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำชุดสีขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวอย่างของสีที่ผสมออกมาที่คุณวางแผนจะใช้ในงานของคุณ รวมถึงการใช้โปรแกรมเช่น Adobe Photoshop ก็ช่วยให้คุณสามารถสร้างชุดสีและดูตัวอย่างว่าสีจะออกมาแบบไหนได้ โดยการใช้กระบวนการ CMYK แล้วปรับแต่งชุดสีเหล่านี้เพื่อให้คุณมั่นใจว่างานในหน้ากระดาษจะออกมาดูดีเหมือนงานในหน้าจอ

ผู้มีส่วนร่วม

และคุณอาจสนใจ...

ภาพประกอบบุคคลที่กำลังนั่งอยู่ซึ่งเต็มไปด้วยสีสัน

คู่มือเกี่ยวกับความหมายของสี

เรียนรู้วิธีการใช้จิตวิทยาของสีเพื่อเสริมและเพิ่มความหมายให้กับงานออกแบบของคุณ

ภาพถ่ายขาวดำซึ่งมีเฉพาะตัวบุคคลเป็นสีส้มยืนอยู่หน้าบ้าน

กำหนดอารมณ์ความรู้สึกด้วยสีขั้นที่สอง

มาค้นพบว่าการรวมสีรูปแบบต่างๆ จะช่วยให้งานที่ใช้ดึงดูดความสนใจโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไรในคำแนะนำเกี่ยวกับสีขั้นที่สองสำหรับมือใหม่ฉบับนี้

ภาพวาดดิจิทัลเป็นรูปป่าพร้อมลงสีพื้นผิวด้วยสีน้ำ

เพิ่มพื้นผิวที่ซับซ้อนของสีน้ำลงไปในภาพวาดดิจิทัลของคุณ

เรียนรู้ว่าพื้นผิวของพื้นหลังจะเพิ่มความลึกให้กับภาพวาดดิจิทัลแบบลงสีน้ำได้อย่างไร

การออกแบบภาพพื้นหลังบนแท็บเล็ต อุปกรณ์มือถือ และแล็ปท็อป

สร้างภาพพื้นหลังระดับมืออาชีพสำหรับสื่อทุกชนิด

ค้นพบวิธีสร้างภาพพื้นหลังระดับมืออาชีพสำหรับงานนำเสนอ เดสก์ท็อป และโปรเจกต์อื่นๆ